Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 มกราคม 2559
1. บลจ. กสิกรไทยคาดตลาดหลักทรัพย์ไทยปีนี้ผันผวนสูง
2. รมว.พาณิชย์ เผย ทูตสหรัฐฯ เดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุนกับไทย
3. ดอลลาร์ฮ่องกงเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย หลังอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบกว่า 8 ปี
- นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) ระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีแนวโน้มผันผวนสูงมากจากเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจเป็นหลัก โดยคาดว่าหลักทรัพย์กลุ่มท่องเที่ยวและก่อสร้างมีแนวโน้มสดใส ด้วยอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศของรัฐ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจะเป็นปัจจัยบวกประคับประคองดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานมีแนวโน้มตกต่ำตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ คาดว่า ณ สิ้นปี 59 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะอยู่ในช่วง 1,400 - 1,450 จุด
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยและภูมิภาคในปี 59 คือ 1) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจที่ไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ สหรัฐฯ เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงเปราะบาง อาจส่งผลกระทบให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เศรษฐกิจชะลอตัว และอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้านจีนกำลังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในระดับต่ำกว่าร้อยละ 7.0 โดย สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 6.8 ในปี 59 (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 58) ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจยุโรปที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และธนาคารกลางยุโรปอาจออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดโลก และทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศผันผวน อันจะส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย นอกจากนี้ 2) ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลกระทบต่อหลักทรัพย์ในกลุ่มพลังงานซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 16.3 ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ไทย ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ วันที่ 20 ม.ค. 59 ปิดที่ระดับ 1,248.98 จุด ลดลงร้อยละ -3.0 จากสิ้นปี 58
- นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังให้นายกลิน ที.เดวีส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเข้าพบ ว่าในปี 59 ทั้งสองฝ่ายจะเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนผ่านการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทยสหรัฐฯ ทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในช่วงเดือน เม.ย. 59 เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ จะเป็นผลดีต่อการค้าและการลงทุนไทย โดยสหรัฐฯ นับเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของไทย โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 57 มีสัดส่วนร้อยละ 10.5 ของมูลค่าส่งออกรวม ความร่วมมือด้านการค้าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ ที่นับเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจสาขาใหม่ๆ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมสูง
- เงินดอลลาร์ฮ่องกงเริ่มกลับมาปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยซื้อขายที่ระดับ 7.8163 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเช้าวันที่ 22 ม.ค. 59 หลังจากปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงกว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา และแตะระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 50 ที่ 7.8294 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันพุธที่ 20 ม.ค. 59
- สศค. วิเคราะห์ว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฮ่องกงนับตั้งแต่ต้นปี 59 เป็นต้นมา สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของเงินหยวนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเช่นเดียวกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลต่อการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจฮ่องกง รวมทั้งความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์จีน โดยดัชนี Shanghai Composite Index ปิดตลาดในวันที่ 21 ม.ค. 59 ที่ 2,880.48 จุด ปรับลดลงร้อยละ -3.2 จากวันก่อนหน้า ทำให้ดัชนีฮั่งเส็งฮ่องกงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยปิดตลาดที่ 18,542.15 จุด ปรับลดลงร้อยละ -1.8 จากวันก่อนหน้า สอดคล้องกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนที่มีแนวโน้มดึงเงินออกจากฮ่องกง จนทำให้ค่าเงินอ่อนลงเกือบหลุดขอบอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารกลางฮ่องกงกำหนดไว้ระหว่าง 7.75 - 7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีคำสั่งซื้อเงินฮ่องกงมูลค่าสูงในวันที่ 21 ม.ค. 59 ได้ทำให้ดอลลาร์ฮ่องกงเริ่มกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย ทั้งนี้ ฮ่องกงยังคงมีทุนสำรองระหว่างประเทศมาก จึงน่าจะรองรับความผันผวนของค่าเงินในระยะสั้นได้ โดย ณ เดือน ธ.ค. 58 ฮ่องกงมีทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่าสูงถึง 358.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นอันดับ 7 ของโลก อย่างไรก็ตาม ควรติดตามความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางฮ่องกงอย่างใกล้ชิดว่าจะมีมาตรการพยุงค่าเงินในอนาคตหรือไม่
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257