รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 - 22 มกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 14:15 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. 58 ปีงปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 283.8 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือนธ.ค. 58 พบว่าดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -39.7 พันล้านบาท
  • อัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค.58 อยู่ที่ระดับ 87.5
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค. 58 ขยายตัว ร้อยละ 42.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.9
  • GDP จีน ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.4 จุด
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators         Forecast    Previous
Dec : API (%YOY)     -0.7          0.1
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามในเดือน ธ.ค. 58 ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 58 และยอดขายรถในงาน Motor Expo 2015
Economic Indicators: This Week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. 58 ปีงปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 283.8 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.8 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 239.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.8 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 206.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -7.7 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 33.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.0 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 40.9 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 26.5 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 15.0พันล้านบาท และรายจ่ายอื่นของกระทรวงกลาโหม 10.1 พันล้านบาทเป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 44.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.8 ต่อปีทำให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 59 รายจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 59 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 807.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 29.7 ของวงเงินงปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือนธ.ค. 58 พบว่าดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -39.7 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 22.7 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -17.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 59 งบประมาณขาดดุลจำนวน -311.4 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 6.5 พันล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -305.0 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 386.5 พันล้านบาท
  • การจ้างงานเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 38.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1 แสนคน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะการจ้างงานในเกษตรกรรมที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปี ที่ร้อยละ 1.2 ซึ่งมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้นถึง 1.7 แสนคน เนื่องจากเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ส่วนการจ้างงาน ภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาจากสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เป็นสำคัญ ในขณะที่ การจ้างงานในภาคอุตสากรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.8 ส่งผลให้การจ้างงานรวมในปี 58 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหรือคิดเป็นจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.0 ล้านคน สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.5 แสนคน ในขณะที่อัตราการว่างงานทั้งปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือเป็นจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 3.5 แสนคน
Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค.58 อยู่ที่ระดับ 87.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.8 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ เดือน ธ.ค. ได้แก่ การจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายช่วงสิ้นปี การจัดงานมอร์เตอร์เอ็กซ์โป 2015 และมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในช่วงปีใหม่ ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลดีต่อต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการ
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 42.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 86.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) เป็นการขยายตัวในระดับสูงเนื่องจากเป็นผลจากการเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ช่วงกลางปี 58 ที่ควรเริ่มปลูกตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. แต่ต้องเลื่อนการเพาะปลูกไปเป็นปลายเดือน ก.ค. จากความกังวลต่อปริมาณน้ำฝน จากปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกได้ล่าช้ากว่าปกติ ส่งผลให้ในเดือน ธ.ค. 58 ที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในหมวดข้าวเปลือกมีการขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 274.3 ดังนั้นจึงส่งผลให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในภาพรวมขยายตัวในระดับสูงตาม ในขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตามผลของราคาที่หดตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันดิบ ในส่วนของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 58 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -3.2 และในปี 58 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -5.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.8 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามการหดตัวของราคาในหมวดพืชผลสำคัญเป็นหลัก อาทิ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้อุปสงค์ในสินค้าเกษตรลดลง กอปรกับการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนกันกับน้ำมันปิโตรเลียม สำหรับราคาสินค้าในหมวดปศุสัตว์ปรับลดลง เช่นกันจากการขยายตัวของปริมาณผลผลิตเนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ไตรมาส 4 ปี 58 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -5.8 และทั้งปี 58 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -5.9 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในปี 58 หดตัวร้อยละ -10.1
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวลงที่ร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ในเดือน ธ.ค. 58 ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 58 และยอดขายรถในงาน Motor Expo 2015

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากยอดขายรถยนต์และส่วนประกอบ แต่หากคิดเทียบกับเดือนก่อน จะหดตัวร้อยละ -0.1 (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากสินค้าวัตถุดิบและพลังงานที่หดตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.7จากช่วงเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและด้านนันทนาการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดบ้านใหม่ยังคงเปราะบาง สะท้อนจากยอดสร้างบ้านใหม่ และยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 58 ที่กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -2.5 และร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ โดยเป็นผลจากการหดตัวของคอนโดมิเนียม

China: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ทั้งปี 58 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.9 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 6.2 ในเดือนก่อน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.0 ชะลอลงจากร้อยละ 15.7 ในปีก่อน ยอดค้าปลีกเดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 11.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาชะลอลงอีกครั้งหลังขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน

Eurozone: worsening economic trend

ยอดส่งออก เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.6 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นจากการส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุตสาหกรรม ยอดนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยการนำเข้าเร่งขึ้นในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุตสาหกรรม แต่การหดตัวของการนำเข้าเชื้อเพลิงส่งผลให้ยอดนำเข้าสินค้าชะลอลงในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาพลังงานที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ -5.7 จุด ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินที่ดีขึ้น

Japan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.4 จุด ลดลงจาก 52.6 จุดในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนดังกล่าว กอปรกับดัชนีฯ ยังคงอยู่สูงกว่าเกณฑ์ 50 จุดอย่างต่อเนื่อง สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ขยายตัวได้ดี

India: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือน จากเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินแร่ และน้ำมันที่หดตัว มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่อง 13 เดือนเช่นกัน จากการนำเข้าน้ำมัน ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกที่หดตัวสูง ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ธ.ค. 58 ขาดดุลเพิ่มขึ้นที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้า อาทิ หมวดอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 59 ธนาคารกลางมาเลเซีย มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ม.ค. 59 ไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 58 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวม นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

Singapore: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีน เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่หดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าหมวดสินแร่ เชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ที่หดตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ การนำเข้าที่หดตัวสูงกว่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ผันผวนต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 21 ม.ค. 59 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,245.61 จุดด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์ 41,261.2 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงจากช่วงต้นสัปดาห์ จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงมากแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี กดดันราคาหลักทรัพย์กลุ่มพลังงานให้ปรับตัวลดลงมาก โดยเป็นแรงขายของนักลงทุนชาวต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นหลัก ทั้งนี้ หลักทรัพย์กลุ่มสื่อสารและธนาคารที่กลับฟื้นตัวจากการประกาศผลประกอบการที่ออกมาดีเกินคาดช่วยพยุงดัชนี SET ให้ไม่ปรับตัวลดลงมากนัก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 ม.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,661.0 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง 1-13 bps เนื่องจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ จากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น Benchmark อายุ 20 ปี และพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือน และ 6 เดือน ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนถึง 1.51 2.09 และ 3.17 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ และราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 ม.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิถึง 4,733.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 21 ม.ค. 59 เงินบาทปิดที่ระดับ 36.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.12 จากสัปดาห์ก่อน เช่นเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้น วอนเกาหลีที่อ่อนค่า ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าใกล้เคียงกับค่าเงินส่วนใหญ่ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัว โดยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.04 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ