Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559
1. ม. หอการค้าเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 59 ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
2. TMB ชี้ดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน
3. สภาไตรภาคียางไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กำหนดโควต้าการส่งออกยางเดือน มี.ค.-ส.ค. 59
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม. หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 64.4 จุด ลดลงจาก 65.1 จุดในเดือนก่อนหน้า จากความกังวลของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นในช่วงต้นปี โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความผันผวนในตลาดการเงิน กอปรกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เป็นผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวลดลงตามด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง สะท้อนมุมมองผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความกังวลด้านปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่มีความผันผวน โดยเฉพาะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ด้วยสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 11.1 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 58 โดยในปี 58 มูลค่าส่งออกของไทยไปยังจีนหดตัวร้อยละ -5.4 อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามการชะลอลงของอุปสงค์จีนเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อกำลังซื้อของเกษตรกรในประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องคาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนหลักให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจและมีแนวโน้มในการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 2.4 หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 - 2.9 (คาดการณ์ ณ ม.ค. 59)
- นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม (TMB-SME Sentiment Index) ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 58 ว่าอยู่ที่ระดับ 40.5 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ระดับ 34.2 จุด คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.4 จากไตรมาสก่อน อันเป็นผลทางฤดูกาลที่เข้าสู่ช่วงเทศกาลและมีวันหยุดต่อเนื่องค่อนข้างมาก ทำให้การบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตกคึกคัก ผู้ประกอบการจึงคลายความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศลง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในภาคใต้ยังคงกังวลต่อผลกระทบของราคายางพาราและปาล์มที่ตกต่ำ และปัญหาในภาคประมงที่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ผู้ประกอบการภาคตะวันออกเฉียงเหนือกังวลต่อราคาข้าวที่ตกต่ำ และผลผลิตที่ลดลงจากภัยแล้ง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจรายภูมิภาคที่สะท้อนการขยายตัวได้ดีของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 58 อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งที่จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์และหอการค้าไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค และยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงบนฐานการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ที่ขยายตัวสูง ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายประชาชนของภาครัฐในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ที่ให้ผู้มีเงินได้สามารถนำรายการซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 25 - 31 ธ.ค. 58 มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ อย่างไรก็ตาม ด้านการท่องเที่ยวกลับพบว่า รายได้จากการเยี่ยมเยือนแม้ว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่มาจากการเร่งตัวของรายได้ฯ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นสำคัญ
- สภาไตรภาคียาง 3 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ประกาศใช้มาตรการกำหนดโควต้าการส่งออกยางของแต่ละประเทศในช่วงเดือน มี.ค. - ส.ค. 59 เพื่อลดอุปทานยางในตลาดโลก ซึ่งจะช่วยพยุงราคายาง โดยจะร่วมกันลดปริมาณการส่งออกลง 6.15 แสนตัน และส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การกำหนดโควต้าการส่งออกยางของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางที่อยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก เป็นอีกความพยายามหนึ่งในการบรรเทาปัญหาราคายางตกต่ำในตลาดโลก ซึ่งมีสาเหตุมาจากอุปสงค์ยางที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคยางรายใหญ่ โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้บริโภคยางอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในปี 58 มูลค่าการนำเข้ายางรวมทั้งประเภทยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ของจีนอยู่ที่ 7,812.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวกว่าร้อยละ -12.6 จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การปรับลดปริมาณการส่งออกลงรวม 6.15 แสนตัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 6 ของผลผลิตยางทั่วโลก ซึ่งแบ่งออกเป็นการปรับลดการส่งออกของไทยลง 3.2 แสนตัน อินโดนีเซีย 2.4 แสนตัน และมาเลเซีย 5.2 หมื่นตัน ควบคู่กับการเร่งส่งเสริมการบริโภคยางภายในประเทศ และการรับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรกรโดยรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 59 เป็นต้นมา จะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนในภาคใต้ได้
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257