Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559
Summary:
1. ธ.ก.ส.ทุ่ม 9.6 พันล้านบาท รักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง
2. ส่งออกอัญมณีรุ่ง
3. เศรษฐกิจสมาชิกยูโรโซนปี 58 เติบโตที่ร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าที่คาด
1. ธ.ก.ส.ทุ่ม 9.6 พันล้านบาท รักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง
- นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตตกต่ำและหัวมันสำปะหลังไม่ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด โดยได้ออกโครงการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังปี 2558/59 วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังโดยปกติจะเป็นช่วงต้นปี โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากระหว่างเดือน ม.ค. ถึง มี.ค. และอาจต่อเนื่องไปถึงเดือน พ.ค. ได้ ซึ่งช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากดังกล่าว อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาต่ำลงได้ สำหรับในปี 59 นี้ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอาจเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลักๆ 2 อย่างด้วยกันคือ (1) เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังหลักจากไทย อาทิ แป้งมันสำปะหลัง มันสำปะหลังเส้น และมันสำปะหลังอัดแท่ง ที่จะส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อลดลง และ (2) ปัญหาน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ปริมาณน้ำชลประทานอาจไม่เพียงพอแก่ความต้องการเพื่อเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2558/59 และอาจส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังได้รับความเสียหาย หรือผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ ดังนั้น หาก ธ.ก.ส. มีนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ไม่ให้เผชิญผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว โดยทำให้การผลิตมันสำปะหลังมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการที่ผลผลิตไม่กระจุกตัวอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปี ผ่านการรณรงค์ให้ชะลอการเพาะปลูกมันสำปะหลังออกไป และมีมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ดำเนินตามการรณรงค์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการทำให้เกิดประสิทธิภาพแก่ตลาดมันสำปะหลังได้ในอนาคต
2. ส่งออกอัญมณีรุ่ง
- รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 59 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5.0 จากปี 58 เพราะได้รับผลดีจากตลาดในประเทศสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน และเป็นตลาดหลักในการส่งออกของประเทศไทย โดยเฉพาะสหรัฐที่หันมาสั่งซื้อสินค้าเครื่องประดับทองมากขึ้นจากเดิมเน้นสินค้าเครืองประดับเงิน
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา (เศรษฐกิจ 15 ประเทศคู่ค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.56 คาดการณ์ ณ ม.ค. 59 ) นอกจากนี้ จากการเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งซื้อของสหรัฐที่หันมาสนใจเครื่องประดับทองมากขึ้น จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยปรับมาพัฒนาและขยายกลุ่มสินค้าเครื่องประดับทองมากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงประจักษ์ในปี 58 พบว่าเครื่องประดับและอัญมณีขยายตัวได้ดี ทั้งด้านการส่งออกและด้านการผลิต สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับและอัญมณีในปี 58 พบว่ามีมูลค่า 10.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตลาดที่มีการส่งออกได้ดี คือ สวิตเซอร์แลนด์ที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 57.4 และกัมพูชาร้อยละ 92.5 ในส่วนของด้านการผลิตที่สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในหมวดเครื่องประดับพบว่าขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. เศรษฐกิจสมาชิกยูโรโซนปี 58 เติบโตที่ร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าที่คาด
- สำนักงานสถิติยุโรป (ยูโรสแตท) รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนซึ่งมีสมาชิก 19 ประเทศ ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 58 ต่ำกว่าคาดการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งตั้งเป้าร้อยละ 1.6 ส่วนจีดีพีเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วเติบโตร้อยละ 0.3 หากจำแนกออกเป็นรายประเทศพบว่า จีดีพีของเยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสุดท้ายของปีที่แล้ว แต่ยูโรสแตทเชื่อว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีจะยังคงเป็นเสาหลักที่มั่นคงให้แก่เศรษฐกิจของประเทศอื่นในภูมิภาคได้ต่อไป ด้านจีดีพีของฝรั่งเศสขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ส่วนอิตาลีขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.1
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจของยูโรโซนขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งต่ำกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศต่างๆในยูโรโซนที่มีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ อัตราการเจริญเติบโตที่ประกาศออกมาสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ สศค. ที่ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในยูโรโซน ไว้ที่ร้อยละ 1.5 คาดการณ์ ณ ม.ค. 59 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปได้มีมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายและส่งเสริมสภาพคล่อง อาจส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 59 ของยูโรโซนกลับมาขยายตัวได้ดี
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257