รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 28, 2016 14:00 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 2/2559

วันที่ 28 มกราคม 2559

"เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม และในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 สะท้อนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมา อีกทั้งการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องในระดับสูง ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจสำคัญ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ยังชะลอตัว ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในปี 2559 นี้ต่อไป"

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2558 และไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ว่า "เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม และในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 สะท้อนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมา อีกทั้งการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องในระดับสูง ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจสำคัญ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ยังชะลอตัว ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในปี 2559 นี้ต่อไป" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

1.การบริโภคภาคเอกชนในเดือนในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2558 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี จากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.2 ต่อปี สะท้อนการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดีจากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อไตรมาส สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อปี จากการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในเขตภูมิภาค เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อไตรมาส นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 65.1 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการช็อปช่วยชาติในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาที่ช่วยลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา กอปรกับราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง

2.การลงทุนภาคเอกชนในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากเดือนก่อนหน้าและไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 32.7 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 18.8 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 19.6 ต่อไตรมาส ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา สำหรับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อไตรมาส สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหักผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี และ 2.1 ต่อไตรมาส

3. สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2559) สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง และดุลงบประมาณที่ขาดดุล โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 283.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 239.1 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 206.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -7.7 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 33.0 พันล้านบาท ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 87.0 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2559) รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 สามารถเบิกจ่ายได้ 807.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 29.7 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 (2,720.0 พันล้านบาท) สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 235.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 36.8 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2559) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 581.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.6 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -39.7 พันล้านบาท และทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2559) ขาดดุล -311.4 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

4.ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคมหดตัวร้อยละ -8.7 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกกลุ่มสินค้าส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า การเกษตร น้ำมันและเชื้อเพลง ขณะที่ภาพรวมการส่งออกรายตลาดหดตัวเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และอาเซียน-5 เป็นสำคัญ แต่ตลาดส่งออกไปสหภาพยุโรป และ CLMV ยังขยายตัวเป็นบวก ทำให้ในไตรมาสที่ 4 การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -8.1 ต่อปี

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในรอบ 9 เดือน นับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 42.9 ต่อปี เนื่องจากการเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 แต่ต้องเลื่อนการเพาะปลูกไปเป็นปลายเดือนกรกฎาคม 2558 จากความกังวลต่อปริมาณน้ำฝนจากปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกได้ล่าช้ากว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ในเดือนธันวาคม 2558 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในหมวดข้าวเปลือกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 274.3 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในภาพรวมขยายตัวในระดับสูงตาม ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -3.2 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้วพบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 ต่อไตรมาส สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 87.5 โดยมีปัจจัยบวกจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายช่วงสิ้นปี การจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2015 และมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในช่วงปีใหม่ ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลดีต่อต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการ สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 2.99 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 4 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า หดตัวร้อยละ -6.3 ต่อไตรมาส ส่วนหนึ่งเนื่องจากเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.5 แสนคน ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2558 ยังคงติดลบที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และราคาเนื้อสัตว์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัวร้อยละ -0.9 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 อยู่ที่ระดับร้อยละ 44.5 ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 156.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ