รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2016 13:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

Summary:

1. พาณิชย์ เผยเดือนม.ค.59 ยอดเลิกกิจสูงถึงร้อยละ 6 และยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ลดลงร้อยละ 4

2. 4 ชาติเห็นพ้องตรึงผลิตน้ำมัน แต่ไร้ข้อตกลง ยันผู้ผลิตที่เหลือต้องร่วมมือด้วย

3. ญี่ปุ่นเผยยอดใช้จ่ายภาคครัวเรือนปี 58 หดตัวร้อยละ -2.7 จากปีก่อน

1. พาณิชย์ เผยเดือนม.ค.59 ยอดเลิกกิจสูงถึงร้อยละ 6 และยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ลดลงร้อยละ 4
  • น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการยื่นจดทะเบียนนิติบุคลทั่วประเทศในเดือนม.ค.59 มีผู้ยื่นจดทะเบียนเลิกกิจการจำนวน 1,469 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ลดลงร้อยละ 4 ยังอยู่ในระดับปกติ คาดแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในปี 59 จะไม่น้อยกว่า 60,000 - 65,000 ราย เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การจดทะเบียนเลิกกิจการที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 6 เนื่องจากการลดลงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการการควบคุมธุรกิจค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4 และร้อยละ 8.4 ของ GDP ทั้งประเทศ ตามลำดับ และยังเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ พบว่า ยังสามารถขยายตัวได้ โดยในไตรมาส 4 ปี 58 ภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 23.9 และร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากร้อยละ 2.0 เหลือร้อยละ 0.01 ทำให้ธุรกิจที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นยังขยายตัวได้ดี จับตา: การจดทะเบียนเลิกกิจการและจดทะเบียนกิจการใหม่เดือนก.พ.59
2. 4 ชาติเห็นพ้องตรึงผลิตน้ำมัน แต่ไร้ข้อตกลง ยันผู้ผลิตที่เหลือต้องร่วมมือด้วย
  • นายโมฮัมหมัด บิน ซาเลห์ อัล-ซาดา รัฐมนตรีพลังงานของกาตาร์ระบุว่า ซาอุดิอาระเบีย, รัสเซีย, กาตาร์ และเวเนซูเอล่า เห็นพ้องเรื่องการตรึงกำลังการผลิตน้ำมันในการเจรจาที่จัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆจะต้องปฏิบัติตามด้วย ขณะที่ นายอาลี อัล ไนมี รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบีย กล่าวว่า การตรึงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับการผลิตของเดือนม.ค.นั้น ถือว่าเป็นปริมาณที่น่าจะเพียงพอ เพราะซาอุดิอาระเบียเองก็ยังคงต้องผลิตน้ำมันรองรับความต้องการของลูกค้าด้วยเช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวน เนื่องจากตลาดคาดว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะลดปริมาณการผลิตลง ขณะที่ 4 ประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังตรึงกำลังการผลิตและไม่มีการปรับลงกำลังการผลิตลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก อุปทานน้ำมันยังคงล้นตลาดโลก ขณะที่ อุปสงค์การใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ตกต่ำจะเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสและอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป เนื่องจาก แม้ว่าราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้พลังงานได้ในราคาที่ถูกลง และยังเป็นปัจจัยช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับราคาเชื้อเพลิงให้มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ตกต่ำจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้เกษตรกร ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย ในปี 59 จะอยู่ที่ระดับ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีช่วงคาดการณ์ 30 ถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในช่วงไตรมาสแรกปี 59
3. ญี่ปุ่นเผยยอดใช้จ่ายภาคครัวเรือนปี 58 หดตัวร้อยละ -2.7 จากปีก่อน
  • กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นในปี 58 หดตัวร้อยละ -2.7 จากปีก่อนหน้า โดยมาจากลดลงของยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในหมวดอาหารและเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าที่หดตัวร้อยละ -0.5 และ -6.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในหมวดเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ในครัวเรือนที่หดตัว ร้อยละ -4.6
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่น มีปัจจัยกดดันสำคัญมาจากการปรับขึ้นภาษีฐานการบริโภค (VAT) ในเดือนเม.ย. 57 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวชัดเจนมาจนถึงปี 58 ด้วย สะท้อนจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 58 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 2) จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 52.3 สอดคล้องกับดัชนีฯภาคบริการอยู่ที่ 52.4 บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิต และ 3) สศค. คาดว่า ปี 59 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 0.9 (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ