รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 - 12 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 11:29 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
Indicators this week
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. 59 มีจำนวน 172,112 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.9
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 64.4
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 2.36 ล้านล้านบาท
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,005.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.6 ของ GDP
  • GDP อินเดีย ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ GDP ทั้งปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.5 สูงสุดในรอบ 4 ปี
  • อัตราการว่างงานของสหรัฐ เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ ร้อยละ 4.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของสหราชอาณาจักร เดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกของอินโดนีเซีย เดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators           Forecast     Previous
Jan 16 : TISI (%YOY)   88.7         87.5
  • ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 87.5 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลดีต่อต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น
Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. 59 มีจำนวน 172,112 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตภูมิภาคที่ร้อยละ 27.3 และ 8.9 ตามลำดับ เนื่องจากการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในช่วงปีใหม่ของผู้ประกอบการ กอปรกับเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนเพิ่มขึ้น
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 64.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 65.1 และเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้การส่งออกของไทยยังคงไม่ฟื้นตัวกอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกหลัก อาทิ ยางพารา และข้าวที่ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและภาวะเศรษฐกิจโลก จึงทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 2.36 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย จากการลดลงของหลักทรัพย์ ซึ่งปราศจากภาระผูกพัน ขณะที่การดำรงเงินสดที่ธนาคารและเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงาน โดยสินทรัพย์ สภาพคล่องส่วนเกินคิดเป็น 3.1 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงตามกฎหมาย (ร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก)
Economic Indicators: This Week
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,005.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.6 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 29.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทาง การคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) (ร้อยละ 94.3 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 94.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 59 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 88.7 ปรับตัวดีขึ้นจาก เดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 87.5 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลดีต่อต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทรงตัว โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ม.ค. 59 เพิ่มขึ้น 151,000 ตำแหน่ง ถือเป็นระดับการเพิ่มขึ้นที่ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เพิ่มขึ้นจากการจ้างงานแบบเต็มเวลาโดยตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นมากจากภาคค้าปลีก นันทนาการและโรงพยาบาล และภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ของกำลังแรงงานรวม ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี ด้านรายได้ภาคเอกชนเฉลี่ยรายสัปดาห์ เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 873.13 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนโดยเฉพาะในภาคบริการทางธุรกิจและวิชาการ บริการทางการเงิน และสารสนเทศดุลการค้า เดือน ธ.ค. 58 ขาดดุล 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อน โดยมูลค่าส่งออกหดตัวร้อยละ -10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการส่งออกสินค้าเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวชะลอลง และสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัว ขณะที่มูลค่านำเข้าที่หดตัวเร่งขึ้น โดยหดตัวร้อยละ -7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเร่งขึ้น

Eurozone : improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากราคาพลังงานที่หดตัวน้อยลง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างทรงตัวที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

United Kingdom : worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นจากหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 216 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ธ.ค. 57 ขณะที่การส่งออกในหมวดอื่นๆ หดตัว ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกทั้งปี 58 หดตัวร้อยละ -1.7 มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าหดตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันที่ได้รับผลจากการหดตัวของราคา ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าทั้งปี 58 หดตัวร้อยละ -2.3 ดุลการค้า ขาดดุล 3.6 พันล้านปอนด์ ทั้งปี ดุลการค้าขาดดุล 106.7 พันล้านปอนด์

India : improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากร้อยละ 7.7 ในไตรมาสก่อน อันเป็นผลมาจากการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวเร่งขึ้น ทั้งนี้ GDP ทั้งปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.5 สูงสุดในรอบ 4 ปี

Indonesia : improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 7 เดือน จากอาหาร-เครื่องดื่ม และเครื่องเขียน-เครื่องมือการสื่อสารที่ขยายตัวในระดับสูง

Malaysia : improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในเดือนก่อนหน้า จากการผลิตสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

Philippines : mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวติดต่อกัน 9 เดือน จากการส่งออกไปยังจีนที่หดตัวในระดับสูง และการส่งออกไปญี่ปุ่นและสิงคโปร์ที่หดตัวเร่งขึ้น วันที่ 11 ก.พ. 59 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 4.00 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 เนื่องจากคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายในช่วงคาดการณ์ แม้ว่าคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาด และผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง

Vietnam : improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.9 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้า อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า กระดาษ และผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ที่เร่งตัวขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด เพิ่มขึ้นจาก 51.3 จุด อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ทรงตัวและปรับลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ในวันที่ 11 ก.พ. 59 ซึ่งดัชนีฯ ปิดที่ 1,280.74 จุด เป็นผลจากนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ที่ขายสุทธิเฉพาะวันดังกล่าวถึง 2,315.2 ล้านบาท จาก 1) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มี.ค. นี้ จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก 2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง 3) แรงขายในหลักทรัพย์กลุ่มธนาคารตามทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ยุโรป โดยหุ้นดอยช์แบงก์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี แม้ว่าธนาคารยืนยันว่ามีเงินสดเพียงพอที่จะชำระหนี้ก็ตาม และ 4) ทิศทางตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ปรับลดลง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 ก.พ. 59 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ค่อนข้างเบาบางอยู่ที่ 32,897.1 ล้านบาทต่อวัน และนักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 4,810.3 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง โดยเฉพาะช่วงอายุมากกว่า 5 ปี จากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ดังกล่าว และผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนถึง 5.0 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนที่ลดลงเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลอัตราตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 ก.พ. 59 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิถึง 3,547.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก โดย ณ วันที่ 11 ก.พ. 59 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าที่สุดในรอบ 4 เดือน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ามากที่สุดในรอบกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินอื่น ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.13 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ