Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559
1. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทย
2. ยอดขายเนสท์เล่ปี 58 ลดต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี จากอุปสงค์ที่อ่อนแอในเอเชีย
3. GDP มาเลเซีย ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.5
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าหอการค้าไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 59 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 - 3.5 แต่ยังคงขยายตัวได้ดีกว่าปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.0 - 1.0 จากเดิมร้อยละ 3.0 - 4.0 ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 59 จะขยายตัวได้ในระดับต่ำ โดยเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.5 -3.0 ตามลำดับ และในช่วงครึ่งหลังของปี 59 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า ทิศทางประมาณการเศรษฐกิจไทยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประมาณการของ สศค. สศช. และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าระบบเศรษฐกิจในปี 59 นี้ นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐเหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามไปด้วย ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะยังคงช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวและราคาสินค้าส่งออกโดยเฉพาะ
- เนสท์เล่เปิดเผยยอดขายในปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอในภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับการเรียกคืนสินค้าบางชนิดในอินเดีย และราคาสินค้าที่ไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ตามแนวโน้มราคาสินค้าในตลาดโลกที่ตกต่ำ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายของเนสท์เล่ที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงในปี 58 สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะยอดค้าปลีกในหมวดสินค้าอาหารที่อ่อนแอในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนจากยอดขายของเนสท์เล่ในภูมิภาคเอเชียโอเชียเนียและแอฟริกาที่ขยายตัวในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 0.5 โดยยอดขายในจีนซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่มีสัญญาณซบเซาในช่วงครึ่งแรกของปี 58 อย่างชัดเจนก่อนปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี สอดคล้องกับยอดค้าปลีกของจีน ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 10.2 ในช่วงครึ่งแรกของ ปี 58 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 10.9 ในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ปัจจัยด้านราคาก็เป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้การค้าในภูมิภาคเอเชียในปี 58 และ 59 ไม่สดใสนัก เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำทั่วโลก โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 58 ของจีน อินเดีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน อยู่ที่ร้อยละ 1.4 -2.7 1.5 และ -0.3 ตามลำดับ ทำให้การปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาอัตราการเติบโตของรายได้เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน เป็น
- ทางการมาเลเซียแถลงตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 58 โดยชะลอลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ผลจากการลงทุนรวมในไตรมาสดังกล่าวที่ขยายตัวได้ชะลอลง ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวได้แข็งแกร่ง กอปรกับภาคส่งออกที่ขยายตัวได้ อานิสงส์ของเงินริงกิตที่อ่อนค่าในช่วงดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจมาเลเซียทั้งปี 58 ขยายตัวร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ ทางการมาเลเซียคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียในปี 59 จะขยายตัวที่ช่วงร้อยละ 4.0 - 4.5 ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดไว้ที่ช่วงร้อยละ 4.5 - 5.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียที่ชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำเนื่อง ทำให้มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ค้าน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีรายได้ปรับตัวลดลง โดยสินค้าหมวดสินแร่และเชื้อเพลิงมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 16.5 ของมูลค่าการส่งออกมาเลเซียในปี 58 กอปรกับตั้งแต่กลางปี 58 นายกรัฐมนตรีมาเลเซียพัวพันในคดีทุจริตกองทุนพัฒนา 1MDB สร้างความอ่อนไหวต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในมาเลเซีย ทั้งนี้ เศรษฐกิจมาเลเซียในปี 59 ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง อันได้แก่ 1) ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังคงทรงตัวในระดับต่ำ และ 2) เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ไม่สู้ดีนัก ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความผันผวนของค่าเงินริงกิต ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจมาเลเซียในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 4.6 ชะลอลง
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257