ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2016 16:29 —กระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – มกราคม 2559) จัดเก็บได้ 742,070 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 54,323 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.1) โดยการนำส่งรายได้ของหน่วยงานอื่น การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ 57,246 5,925 และ 3,680 ล้านบาท หรือร้อยละ 100.3 6.2 และ 11.6 ตามลำดับ

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นยังคงสูงกว่าประมาณการ ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 สูงกว่าเป้าหมาย โดยกระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ และการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนมกราคม 2559

และในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – มกราคม 2559)

ในเดือนมกราคม 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 156,392 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 14,591 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.6) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 742,070 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 54,323 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 (สูงกว่า ช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.1) เนื่องจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ สูงกว่าเป้าหมาย เป็นผลจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เดือนมกราคม 2559

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 156,392 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 14,591 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.6) โดย 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 9,706 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.2)เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 8,964 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.0) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 6,865 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.3 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.3) ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงจากราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศต่ำกว่าประมาณการ 2,099 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.2) อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศกลุ่มการขายปลีกขยายตัวร้อยละ 5.3 เป็นผลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปีที่แล้ว การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ 3,905 ล้านบาท หรือร้อยละ 53.6 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 49.3) และอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,193 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.0 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.6)

อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,615 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.1) เนื่องจาก ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 1) ยังคงขยายตัวได้ดี อีกทั้งภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 847 ล้านบาทหรือร้อยละ 11.4 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.6)

2. ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – มกราคม 2559)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 742,070 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 54,323 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.1) โดยการนำส่งรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 57,246 ล้านบาท หรือร้อยละ 100.3 ในขณะที่การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ 14,004 และ 653 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 และ 1.8 ตามลำดับ ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 485,799 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,229 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.1) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 12,680 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.0 (ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 11,426 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.2) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,253 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.8 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.4)
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 10,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.3
(สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.4) เนื่องจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) และภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 51) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,925 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.8) โดยภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 1) และอสังหาริมทรัพย์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากการขยายตัวของฐานเงินเดือนที่สูงกว่าประมาณการและผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 168,325 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,768 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 18.4) โดยภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,680 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.5) และภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,187 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.8)

อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,833 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.6) เนื่องจากปริมาณสุราที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,365 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 75.0) เนื่องจากประมาณการการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลในอัตราลิตรละ 5.25 บาท แต่ปัจจุบันจัดเก็บเพียงลิตรละ 4.95 บาท และภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,047 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.9)

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 39,957 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 543 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.2) เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 หดตัวร้อยละ 12.6 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ รวมทั้งผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 34,784 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 653 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 34.9) ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ ธนาคารออมสิน การประปานครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 114,327 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 57,246 ล้านบาท หรือร้อยละ 100.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 83.8) เนื่องจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) การนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และการนำส่งเงินจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินบางส่วน

สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 2,938 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 212 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 14.0) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ที่ราชพัสดุสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 79,669 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11,735 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.8 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 67,945 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,655 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.7 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 11,724 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,920 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.6

2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 3,498 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 373 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9

2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 4,797 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 901 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.8

2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 5,083 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 86 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7

2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 1 จำนวน 8,075 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 615 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 8.2

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3543

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ