Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559
1. PWC เผยไทยติดอันดับ 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตา CEO อาเซียน
2. BOI เผย ในปี 59 นี้จะเร่งเดินหน้ามาตรการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
3. ฮ่องกงเผย GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ขณะที่ GDP ปี 58 โตเพียงร้อยละ 2.4
- PWC เผยไทยติดอันดับ 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตาผู้บริหารระดับสูง (CEO) ของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยธุรกิจที่นักลงทุนให้ความสนใจจะลงทุนในไทย ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค และกิจการที่มีความเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมของไทย หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยยังน่าลงทุนในสายตาเพื่อนบ้านจากจุดแข็งหลายประการ เช่น ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ แรงงานไทยยังมีทักษะฝีมือเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และนโยบายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของภาคเอกชน ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า 5 อันดับตลาดน่าลงทุนในปีนี้ ได้แก่ 1. จีน ซึ่งแม้ปีนี้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มไม่สดใสนัก แต่จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอาเซียน 2. สหรัฐอเมริกา 3. อินโดนีเซีย และเวียดนาม 4. อินเดีย และ 5. ไทย จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่า อินโดนีเซีย และเวียดนาม อยู่ในลำดับที่ดีกว่าไทยเนื่องจากทั้งสองประเทศมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำและทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีอยู่มาก ทำให้โอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีสูง อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงสนใจลงทุนในไทยเนื่องจากไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยัง AEC ด้วยระบบคมนาคมที่สะดวกสบายได้
- เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ภายในปี 59 นี้จะเร่งเดินหน้าดำเนินตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เน้นให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยกำหนดประเทศเป้าหมายในการไปลงทุน ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) กลุ่มประเทศในอาเซียน และกลุ่มประเทศตลาดใหม่ อาทิ มองโกเลีย อินเดีย แอฟริกาใต้ โดยจะให้การส่งเสริมนักลงทุนด้วยการให้ข้อมูลเชิงลึกในรายอุตสาหกรรมทุกด้านที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ การจัดฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและจัดบริการบริษัทที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายที่ประจำอยู่ต่างประเทศ โดยเร่งผลักดันให้มีธุรกิจรายกลางและรายเล็กใน ประเทศไทยไปตั้งฐานการลงทุนในต่างประเทศ ตั้งเป้าไว้ที่ 10 รายต่อปี อาทิ ธุรกิจโรงไฟฟ้า ก่อสร้าง อาหาร โรงแรม เป็นต้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 48-58) มีโครงการลงทุนไทยในต่างประเทศ (FDI Markets) ทั้งสิ้น 550 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาท โดยในปี 58 เป็นปีที่มีจำนวนโครงการมากสุด 79 โครงการ ด้วยมูลค่าลงทุนที่สูงสที่สุดจำนวน 17,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอุตสาหกรรมที่ลงทุนมากสุด 5 อันดับ ได้แก่ อาหาร โรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการเงิน และประเทศที่ไทยไปลงทุนมากสุด คือ เวียดนาม รองลงมาคือ จีน ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศจะเป็นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย และเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก
- สำนักงานสถิติของฮ่องกงเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี และ GDP ในปี 58 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 ต่อปี โดยนับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่ GDP ของฮ่องกงขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่ระดับร้อยละ 3.4 ต่อปี นับเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 55
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาสที่ 4 ของปี 58 ที่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว สะท้อนได้จากยอดค้าปลีกในเดือน ธ.ค. 58 ที่หดตัวร้อยละ -8.5 ต่อปี ในขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 46.1 จุด ยังคงหดตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของนักลงทุนในฮ่องกง มีสาเหตุมาจากผลกระทบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์เศรษฐกิจฮ่องกงในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 59)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257