รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2016 13:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2559

Summary:

1. MPI เดือน ม.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -3.3

2. ดึงผู้นำเข้าทั่วโลก 100 ราย ซื้อยางไทย

3. เกาหลีใต้เผยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือน ก.พ. 59 ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี

1. MPI เดือน ม.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -3.3
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 107.5 หดตัวที่ร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังผลิต (CAPU) อยู่ที่ 63.9
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ม.ค. กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ ร้อยละ -3.3 หลังจากขยายตัวได้ในเดือน พ.ย. - ธ.ค. 58 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับลดลง คือ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ซึ่งมีการหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -12.2 เนื่องจากมีการเร่งผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ตามการปรับขึ้นภาษีรถยนต์ที่จะมีการเริ่มใช้ในเดือน ม.ค. 59 ประกอบกับในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีการจัดกิจกกรรมกระตุ้นยอดขาย ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ในเดือน ม.ค. 59 ลดลง นอกจากนี้อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการผลิตลดลงเช่นกัน ได้แก่ วิทยุโทรทัศน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีต้นทุนในการผลิตสูงและมีการย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามบางส่วน ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และการส่งออกยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมบางส่วนจะมีการปรับตัวลดลงแต่อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และ อุตสาหกรรมอาหาร จำพวกน้ำมันพืชเพื่อการบริโภค ผักและผลไม้กระป๋อง ยังคงมีการผลิตเพิ่มขึ้น จากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
2. ดึงผู้นำเข้าทั่วโลก 100 ราย ซื้อยางไทย
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ก.พ. รมว.พาณิชย์ได้เป็นประธานเปิดโครงการ "จับคู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางพารา"โดยได้นำคณะผู้นำเข้ายางพาราจากทั่วโลกเกือบ 100 บริษัท เพื่อจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยกว่า 100 ราย เพื่อแสดงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ยางไทยไปสู่การขยายการส่งออกสู่ตลาดโลกในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ด้านราคายางพาราในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน กล่าวคือ อุปสงค์การบริโภคยางพาราลดลงจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ ก็ยังส่งผลต่อการลดลงของราคายางพาราเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ (ยางสังเคราะห์ได้จากปิโตรเลียม) ส่วนทางด้านอุปทาน พบว่าผลผลิตยางพาราของโลกมีล้นเกินความต้องการ ทำให้เป็นปัจจัยหลักกดดันราคายางพาราไว้ โดยจากข้อมูลเดือนล่าสุดในเดือน ม.ค. 59 พบว่ามูลค่าการส่งออกยางพาราหดตัวถึงร้อยละ -25.7 ซึ่งเป็นผลมาจากผลทางด้านราคาเป็นหลัก เนื่องจากหากพิจารณาในแง่ปริมาณพบว่าหดตัวเพียงร้อยละ -5.5 ทั้งนี้ การจับคู่ธุรกิจยางพาราจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ยางไทย ทำให้สามารถบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของราคายางพาราได้ในระดับหนึ่ง
3. เกาหลีใต้เผยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือน ก.พ. 59 ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ในภาคการผลิตนั้นปรับตัวลดลง 2 จุดจากเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 63 ในเดือน ก.พ. 59 และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ต่ำกว่า 100 บ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการในธุรกิจมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในระดับที่เสื่อมถอยลง (Deteriorating outlook) โดยค่าดัชนีที่ระดับ 63 ในเดือน ก.พ. 59 ถือเป็นค่าต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 52 และเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ทั้งนี้ การที่ภาคธุรกิจในเกาหลีใต้มีความเชื่อมั่นลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจาก (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้ในเดือน ม.ค. 59 หดตัวถึงร้อยละ -18.8 ต่อปีซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 52 และถือเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 แล้ว และ (2) ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมือง อันเป็นผลกระทบจากปัญหาทางภูมิศาสตร์การเมืองบนคาบสมุทรเกาหลี ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เกาหลีเหนือได้ยิงจรวดและทดสอบนิวเคลียร์เมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกาหลีใต้เผยว่าปัญหาคาบสมุทรเกาหลีจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ เนื่องจากความเสี่ยงดังกล่าวก็ไม่ได้แตกต่างไปจากความตึงเครียดที่มีมาในอดีต ซึ่งเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ยังคงสามารถทนทานต่อภาวะดังกล่าวได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ