Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 มีนาคม 2559
1. ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -30.0 ต่อปี
2. พาณิชย์ผลักดันส่งออกเฟอร์นิเจอร์ปีนี้ขยายตัวร้อยละ 10
3. ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ คาดเศรษฐกิจจีนไม่ทรุดตัว ชี้ภาคบริการช่วยกระตุ้น
- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือน ม.ค. 59 ว่ามีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งมีจำนวนทั้งสิ้น 16,384 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -30.0 เมื่อต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.2 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 59 คิดเป็นการหดตัวสูงถึงร้อยละ -18.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ส่วนหนึ่งเนื่องจากแรงกระตุ้นในเดือนก่อนหน้าจากการเร่งบริโภคก่อนที่อัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 และการส่งเสริมการขายจากมีงานมหกรรมยานยนต์ (Motor Expo) นอกจากนี้ ความกังวลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ระดับราคาพืชผลทางการเกษตรมีแนวโน้ม ทรงตัวในระดับต่ำ เป็นผลทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนมีจำกัด ส่งผลให้แนวโน้มตลาดรถยนต์ยังอยู่ในสภาวะทรงตัว
- อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวภายหลังเปิดงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2559 หรือ งาน TIFF 2016 (ทิฟ) ว่า จากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มีศักยภาพเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว รวมทั้งตลาดจีนที่ยังมีกำลังซื้อ ทำให้คาดว่าปีนี้จะมีการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์จากไทยเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ปีนี้จะมีประมาณ 1,156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10
- สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบและมีนักออกแบบทางด้านเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตและการค้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อนหน้า โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักอย่างเช่นสหรัฐฯ จีน และอาเซียน ประกอบกับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีความโดดเด่นในเรื่องการออกแบบและดีไซน์ที่ทันสมัย และมีคุณภาพ จึงเชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 59 จะสามารถเติบโตได้ที่ร้อยละ 0.1 (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59)
- ผู้เชี่ยวชาญชาวสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะเผชิญกับภาวะ ฮาร์ดแลนดิ้ง หรือภาวะที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างหนัก เนื่องจากรัฐบาลจีนได้หันไปอาศัยภาคบริการเพื่อสกัดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 58 ภาคบริการของจีนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 48.1 ในปี 57 และรัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตของกิจการในภาคบริการ โดยจะเห็นได้ว่า การปฏิรูปของเศรษฐกิจจีนภายใต้ supply side reform ในปี 59 รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับกิจการในภาคบริการและภาคเทคโนโลยีที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี โดยรัฐบาลจีนมองว่า ภาคการผลิตของจีนในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนักนั้นไม่ตรงกับความต้องการของอุปสงค์ในประเทศที่เปลี่ยนไป รัฐบาลจีนจึงเตรียมมาตรการลดภาษีให้กับบริษัทขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทในภาคบริการ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนของบริษัทขนาดเล็กมากขึ้น ซึ่งกลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของจีนต่อไปในอนาคต ดังนั้น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนดังกล่าวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลงหนัก
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257