Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 มีนาคม 2559
Summary:
1. PYLON ประเมินภาพรวมก่อสร้างปี 59 คึกคัก
2. อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 59 ของจีนพุ่งสูงสุดในรอบ 19 เดือน
3. มูลค่าส่งออกฟิลิปปินส์ เดือน ม.ค. 59 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14
1. PYLON ประเมินภาพรวมก่อสร้างปี 59 คึกคัก
- นายชเนศวร์ แสงอารยะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานฐานรากของไทย เปิดเผยว่าภาพรวมอุตสาหกรรมงานก่อสร้างและงานฐานรากเสาเข็มเจาะในปี 59 มีแนวโน้มเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ประกาศไว้ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รายได้ของบริษัทในปี 59 นี้ ขยายตัวร้อยละ 15.0 - 20.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในปี 59 ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมี 6 โครงการเร่งด่วนที่เริ่มวางแผนก่อสร้างปี 59 นี้ และอีก 14 โครงการซึ่งคาดว่าจะทยอยประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ (ณ 31 ม.ค. 59) ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มเห็นสภาพคล่องลงสู่เศรษฐกิจชัดเจนในช่วงกลางปี 59 เป็นต้นไป และมีความต่อเนื่องในระยะ 3 - 5 ปีต่อไป เนื่องจากเป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่และระยะยาว ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจทั้งในแง่การจูงใจให้เอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มเติม (Crowding-in) และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนต่อขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
2. อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 59 ของจีนพุ่งสูงสุดในรอบ 19 เดือน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในเดือน มี.ค. 59 และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 57
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือน ก.พ. 59 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 19 เดือน เป็นผลมาจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ต่อวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นเดือน ก.พ. 59 ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอื่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และมีเพียงราคาสินค้าหมวดเครื่องแต่งกายที่ลดลงร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ จะต้องติดตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของจีนในระยะต่อไปว่าจะเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (One-off) จากปัจจัยเทศกาลตรุษจีนดังกล่าว หรือจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางของอัตราเงินเฟ้อในจีน ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะเป็นข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัวของจีนต่อไป
3. มูลค่าส่งออกฟิลิปปินส์ เดือน ม.ค. 59 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปินส์เปิดเผยข้อมูลมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14
- สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าส่งออกฟิลิปปินส์ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นผลจากการส่งออกไปยังจีนและสิงคโปร์ (สัดส่วนร้อยละ 10.9 และ 6.2 ของการส่งออกรวมปี 58) ที่หดตัว ร้อยละ -8.6 และร้อยละ -8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ และหากพิจารณาเป็นรายสินค้าพบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.0 ของมูลค่าส่งออกรวมหดตัวสูงต่อเนื่อง 10 เดือน โดยหดตัวร้อยละ -45.5 ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.0 ดังนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะไม่ใช่ประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยสัดส่วนการส่งออกเพียงร้อยละ 46.8 ของขนาดเศรษฐกิจรวม แต่ด้วยการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ ม.ค. 59 ว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 6.9 และจะมีการปรับตัวเลขคาดการณ์อีกครั้งในเดือน เม.ย. 59 นี้
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257