รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 15, 2016 13:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2559

Summary:

1. กสิกรไทยคาดเฟดคงดอกเบี้ย ดันบาทแข็ง

2. ภาคปศุสัตว์ยังสดใส เล็งส่งออกปีนี้ทะลุ 2 แสนล้าน

3. จีนต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางออกระยะไกลที่ขยายตัว

1. กสิกรไทยคาดเฟดคงดอกเบี้ย ดันบาทแข็ง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การประชุมของเฟดในช่วงวันที่ 15 - 16 มี.ค. นี้ หากเฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เฟดอาจปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลให้อาจมีการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน ผลดังกล่าวฯ อาจทำให้เงินทุนบางส่วนไหลกลับเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่เป็นตลาดเกิดใหม่ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากความผันผวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่มีความชัดเจน จึงทำให้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าได้ในระยะสั้น โดยในช่วงต้นปี 59 ที่ผ่านมา เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยอ่อนสุดที่ 36.36 บาท/USD เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 59 อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน ก.พ. เงินบาทได้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากข่าวการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ โดยมีการแข็งค่าสุดที่ 35.24 บาท/USD เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 59 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้จะเป็นเพียงผลในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจสหรัฐจะมีการปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีแนวโน้มสูงในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย สศค. คาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 59 จะมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า
2. ภาคปศุสัตว์ยังสดใส เล็งส่งออกปีนี้ทะลุ 2 แสนล้าน
  • นสพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในปี 59 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ส่งออก 1.8 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยด้านบวกจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัว แม้ล่าสุดในเดือน ม.ค. 59 ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 59 ลงจากร้อยละ 3.6 เหลือร้อยละ 3.4 แต่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่ไทยส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปนั้น IMF ได้คาดการณ์ว่าจะยังขยายตัวได้ดี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 59 อาจจะส่งผลดีต่อราคาสินค้าในหมวดปศุสัตว์ให้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลราคาสินค้าในหมวดปศุสัตว์ พบว่าในเดือน ม.ค. 59 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -0.5 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 58 ที่หดตัวร้อยละ -7.1 ทั้งนี้ ข้อมูลการส่งออกปศุสัตว์ในรูปเงินบาทในปี 58 ขยายตัวดีที่ร้อยละ 10.4 โดยเป็นการขยายตัวจากไก่ที่ร้อยละ 9.8 เป็นสำคัญ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากหลายปัจจัย เช่น นโยบายของประเทศรัสเซียได้งดการนำเข้าเนื้อสัตว์จากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจากปัญหาทางการเมือง และปัญหาไข้หวัดนกในสหรัฐฯ ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปทดแทนในหลายตลาดได้ และอาจส่งผลให้การส่งออกปศุสัตว์ในปี 59 เริ่มมีแนวโน้มสดใสมากขึ้น
3.จีนต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางออกระยะไกลที่ขยายตัว
  • ผู้บริหารฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือของบริษัทโบอิ้งเปิดเผยว่าสายการบินจีนต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านการเดินทางขาออกระยะไกลที่เพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตลาดเส้นทางบินระยะไกลของจีนเติบโตขึ้นมากกว่าร้อยละ 140 ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และตลาดเส้นทางบินดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะยังคงเติบโตต่อไป ทำให้อุปสงค์ต่อเครื่องบินขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความคุ้มค่าด้านใช้จ่ายมากกว่าภายใต้สถานการณ์นี้ ทั้งนี้ ในปี 58 ชาวจีนได้เดินทางไปต่างประเทศกว่า 120 ล้านเที่ยว ส่งผลให้จีนเป็นตลาดท่องเที่ยวขาออกรายใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศยังทำให้รัฐบาลจีนตระหนักถึงเงินที่ไหลออกไปยังต่างประเทศ จึงได้ออกมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกไปยังต่างประเทศ กลับเข้ามาใช้จ่ายเงินในประเทศมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนร้านค้าปลอดภาษีขาเข้า (Inbound Duty Free Shop) เพิ่มเติมจากร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) ในปัจจุบันที่ส่วนมากเป็นร้านค้าปลอดภาษีขาออก (Outbound Duty Free Shop)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ