รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2016 11:13 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 มีนาคม 2559

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนดีดตัว

2. ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.75

3. ญี่ปุ่นเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.7

1. ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนดีดตัว
  • สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้ประเมินดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือเดือน พ.ค. 59 นี้ ว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 5 เดือน มาอยู่ที่ 94.30 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.15 จากระดับ 71.90 ในเดือนที่ผ่านมา และดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน จนถึงระดับทรงตัวจากเดิมอยู่ในระดับถดถอย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลการลงทุนภาคเอกชนเดือนม.ค.59 มีสัญญาณชะลอลง จากการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ หรือดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ต่างหดตัว แต่เมื่อพิจารณาการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่ายังขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ต่อปีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0) ประมาณการ ณ เดือนม.ค.59 ประกอบกับมาตรการการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคม กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยหนุนที่ส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากมาตรการเริ่มเห็นผลชัดเจน จับตา: การลงทุนภาคเอกชนไตรมาสแรกปี 59
2. ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.75
  • คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 59 จากเดิมคาดว่าจะโตร้อยละ 3.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.75 เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการอัดฉีดสินเชื่อวงเงินกว่า 100,000 ล้านบาท ยังไม่ทั่วถึง เพราะช่วยเน้นกลุ่มเอสเอ็มอี ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 4 ของเอสเอ็มอีทั้งหมดที่มีถึง 2.7 ล้านราย หรือเพียง 600,000 รายเท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 59 เศรษฐกิจกิจไทยเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ภัยแล้ง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการผลิตและการส่งออก โดยจากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่าในเดือนม.ค. 59 ดัชนีผลภาคอุตสหกรรมและการส่งออกสินค้าหดตัวที่ร้อยละ -3.3 และร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยในเดือนม.ค. 59 มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม (ไทยและต่างชาติ) ขยายตัวร้อยละ 20.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และ 3. แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.2 - 4.2 ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 59
3. ญี่ปุ่นเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.7
  • กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนม.ค. 59 ปรับตัวขึ้นร้อยละ 3.7 สอดคล้องกับการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวร้อยละ 3.5 ในขณะที่สต็อกสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมขยับลงมาร้อยละ 0.2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว อย่างไรก็ดีจากเครื่องเศรษฐกิจล่าสุด จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ย ม.ค.-ก.พ. 59 ยังมีระดับสูงกว่า 50 ที่ 51.3 ในขณะที่ยอดค้าปลีกเดือนม.ค. 59 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.4 - 1.4 ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ