การแก้ไขพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2016 11:55 —กระทรวงการคลัง

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติฯ จะช่วยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีความคล่องตัว

ในการบริหารจัดการองค์กร สามารถช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ในระบบการเงินได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสาคัญ ดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมนิยามของคำว่า “หลักทรัพย์” “สถาบันการเงิน” และ “การให้สินเชื่อ” เพื่อให้ บสย. สามารถช่วยเหลือ SMEs ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. แก้ไขเพิ่มเติมในหมวดการจัดการ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และกฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งอื่น ๆ

3. แก้ไขการให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ และเพิ่มบทบัญญัติให้ บสย. เป็นสถาบันการเงินภาครัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อให้ บสย. เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานเช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ

4. เพิ่มเติมการสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการหนี้ โดยการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา รวมไปถึงยกเว้นบรรดาค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีของ บสย. ซึ่งจะช่วยลดกระบวนการทางศาลสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การแก้ไขพระราชบัญญัติฯ ที่กล่าวข้างต้น จะช่วยให้ บสย. สามารถช่วยเหลือ SMEs ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนสามารถบริหารองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3207 โทรสาร 0 2618 3374

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ