Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2559
Summary:
1. สมคิดบุกเกาหลี โรดโชว์ฟื้นเศรษฐกิจ
2. แล้งจัด พาณิชย์จับตาต้นทุนอาหารสัตว์ขยับ
3. ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซีย
1. สมคิดบุกเกาหลี โรดโชว์ฟื้นเศรษฐกิจ
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าจะเดินทางไปเกาหลีใต้พร้อมรัฐมนตรีเศรษฐกิจและเอกชนไทยหลายราย เพื่อเจรจาเพิ่มช่องทางการค้าและลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่ไทยจะเตรียมไปเจรจาชักจูงให้เกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนร่วมกัน อาทิ กลุ่มดิจิทัล ไอซีที เทเลคอม อุตสาหกรรมไฮเทคและอุตสาหกรรมครีเอทีฟ นอกจากนี้ ยังจะมีการดูงานที่แอ่งอุตสาหกรรมเมืองปูซาน เพื่อนำมาปรับใช้กับซุปเปอร์คลัสเตอร์ของไทย เช่น มาบตาพุด และแหลมฉบัง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้ปี 59 เป็นปีแห่งการลงทุน โดยที่ผ่านมาได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนมากมาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสามประเภท ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนภายในภูมิภาคอาเซียน (Asean Hub) อาทิ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ (Special economic zone) 2. มาตรการเร่งส่งเสริมการลงทุนในระยะสั้น อาทิ PPP fast track และการลดหย่อนภาษีจากการลงทุน และ 3. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่ออนาคต อาทิ การส่งเสริมด้านวิจัยและพัฒนา และการชักชวนบริษัทที่มีนวัตกรรมมาลงทุนในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า
2. แล้งจัด พาณิชย์จับตาต้นทุนอาหารสัตว์ขยับ
- นางสาววิบูลย์ลักษณ์ร่วมรักษ์อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวหลังหารือผลกระทบภัยแล้งร่วมกับผู้ผลิตเนื้อสุกรไก่เนื้อไก่ไข่และปศุสัตว์ว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งอาจทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อไก่ไข่และหมูได้รับผลกระทบเพราะในการผลิตจะต้องมีการใช้น้ำจำนวนมากอาจต้องซื้อน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะฟาร์มหมูแบบเปิดขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะบ่อดินแห้งต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะและเขื่อน ซึ่งอาจต้องจับตาดูอย่างต่อเนื่อง เพราะภัยแล้งจะกระทบต่อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ต่อการออกลูกหมูในอนาคต
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในขณะนี้ ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ส่วนใหญ่ยังมีน้ำใช้เพียงพอ เพราะมีแหล่งน้ำสำรองและมีการใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก จะมีเพียงผู้เลี้ยงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง เพราะใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเป็นหลัก โดยเฉพาะฟาร์มหมูแบบเปิดขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งต้องซื้อน้ำเพิ่มเติม อาจส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลกระทบต่อราคาของเนื้อหมูให้ขยับเพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก เพราะมีเพียงบางฟาร์มเท่านั้น และใช้ปริมาณไม่มากนัก รวมทั้งต้นทุนการผลิตของฟาร์มหมูแบ่งเป็นค่าอาหารถึงร้อยละ 50 ซึ่งไม่มีความกังวลในเรื่องอาหารสัตว์ เพราะราคายังคงทรงตัว ทั้งนี้ ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ 112.97 ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.42
3. ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซีย
- ธนาคารโลกทบทวนคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาส โดยลดคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 5.1 จากร้อยละ 5.3 ที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือน ธ.ค. 58 โดยให้เหตุผลว่าเงื่อนไขในระดับโลกอ่อนแอลงกว่าที่คาด อีกทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียยังใช้จ่ายได้อย่างจำกัด ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศจะต้องพึ่งพา การใช้จ่ายของภาคเอกชนมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่าจากการที่ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกของประเทศอินโดนีเซียที่ลดลงอย่างหนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยการส่งออกของประเทศอินโดนีเซียในเดือน ม.ค. 59 หดตัวถึงร้อยละ - 20.7 และการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียของธนาคารโลกในครั้งนี้ สอดคล้องกับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียของ สศค. ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ประมาณการ ณ ม.ค. 59
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257