รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 14 - 18 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 21, 2016 13:41 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,980.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.1 ของ GDP
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 59 มีจำนวน 3.1 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 59 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.0
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 85.1
  • ที่ประชุม FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 - 0.50
  • ราคาบ้านใหม่ในจีน เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.6
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน เดือน ม.ค. 59 ขยายตัว ร้อยละ 2.8
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -3.8
  • อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 5.8
  • อัตราเงินเฟ้ออินเดีย เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.9
  • มูลค่าการส่งออกอินโดนีเซีย เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -7.2
  • อัตราการว่างงานสิงคโปร์ ไตรมาส 4 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.9
  • มูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้ เดือน ก.พ. 59 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -12.2
  • อัตราการว่างงานฮ่องกง เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.0

Indicator next week

Indicators        Forecast   Previous
Feb : MPI (%YOY)     -2.0      -3.3

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อการผลิตสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามในเดือน ก.พ. 59 ยังคงมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การจัดงาน Motor Expo ในเดือน มี.ค. ซึ่งจะส่งผลให้มีการผลิตรถยนต์มากขึ้น

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,980.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.1 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 24.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทาง การคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) (ร้อยละ 95.1 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 94.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 59 มีจำนวน 3.1 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.0 ต่อปีและขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.0 ต่อเดือน โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกเป็นหลักโดยขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี ขณะที่ยุโรปขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 10.9 ต่อปี ส่วนหนึ่งจากรัสเซียที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 22 เดือน นับจาก เม.ย. 57 ที่มีการหดตัว อย่างไรก็ดี กลุ่มโอเชียเนียยังคงหดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี จากนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 59 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 4.9 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.3 และเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในภูมิภาค ปัญหาภัยแล้งที่ขยายพื่นที่ไปในวงกว้าง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่คลี่คลาย อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อ และยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม อาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องสำอาง และเคมีภัณฑ์

Economic Indicator: Next Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 59 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อการผลิตสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.พ.59 ยังคงมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การจัดงานMotor Expo ในเดือน มี.ค. ซึ่งจะส่งผลให้มีการผลิตรถยนต์มากขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

เมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. 59 ที่ประชุม FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25-0.50 ต่อปี และส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 2 ครั้งในปีนี้ ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายรถยนต์และส่วนประกอบที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากค่าขนส่งที่ลดลง

China: improving economic trend

ราคาบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในเดือนก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากการเพิ่มขึ้นของราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ เสินเจิ้น และปักกิ่ง

Eurozone: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าทุนและอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ขยายตัวมูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่หดตัว ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -1.3 จากสินค้าวัตถุดิบและน้ำมันที่หดตัว ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลมูลค่า 6.2 พันล้านยูโร ด้านเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าเกือบทุกหมวดที่หดตัว มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียนและยูโรโซนที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ -14.2 จากหมวดสินแร่เชื้อเพลิงและสินค้าภาคการผลิตที่หดตัวในระดับสูง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าวเกินดุลมูลค่า 2.4 แสนล้านเยน

Australia: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 จากกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบ 2 ปี 3 เดือน จากการจ้างงานเต็มเวลาที่เพิ่มขึ้นมาก

India: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ติดลบต่อเนื่อง 16 เดือน จากราคาเชื้อเพลิงที่ติดลบต่อเนื่อง

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 17 เดือน และหดตัวลดลงจากเดือนก่อน จากสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่อง 17 เดือนเช่นกัน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 59 เกินดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน ไตรมาส 4 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำกลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวเร่งตัวขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าสะดวกซื้อที่ขยายตัวเร่งขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกเกือบทุกตลาดที่ยังคงหดตัวยกเว้นกลุ่มยุโรป ส่วนมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากการนำเข้าสินค้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งที่ขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลมูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

South Korea: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 59 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -14.6 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 3.5 ในเดือนก่อน

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อน

United Kingdom: mixed signal

ธนาคารกลางสหราชอาณาจักร มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน มี.ค.59 ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 52 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ทรงตัว โดยเคลื่อนไหวในกรอบแคบที่ระดับต่ำกว่า 1,400 จุด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 17 มี.ค. 59 ปิดที่ 1,380.20 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เพียง 48,931.5 ล้านบาท แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. 59 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25-0.50 ต่อปีตามที่คาดการณ์ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่มีแรงขายหลักทรัพย์ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และมีปัจจัยลบในกลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศ จากความกังวลเรื่องการชำระเงินประมูลเครือข่าย 4G บนความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ของ บ. แจส โมบาย บรอดแบนด์งวดแรก (21 มี.ค. 59) และความกังวลต่อเครือข่าย 2G ที่จะปิดตัวลงในวันที่ 15 มี.ค. 59 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14-17 มี.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,985.8 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง โดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จากผลการประชุม FOMC ที่เป็นไปตามคาดการณ์ดังกล่าว ทำให้ต่างชาติลดความกังวลและกลับเข้าถือพันธบัตรในตลาดไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ผลการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 ปี และพันธบัตรรัฐบาลอายุคงเหลือ 13 ปีที่มีความต้องการสูงถึง 4.3 และ 2.5 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทำให้มีการเสนอซื้อกันมากในตลาดรอง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 17 มี.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 3,976.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 17 มี.ค. 59 เงินบาทปิดที่ระดับ 34.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.28 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลอื่นๆ จากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.25 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ