รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 22, 2016 13:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2559

Summary:

1. เศรษฐกิจ Q1 แย่กว่าที่คาด

2. TMB คาด กนง. คงดอกเบี้ยร้อยละ 1.5

3. ธนาคารกลางจีนเล็งไฟเขียวให้นำเงินฝากไปลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น

1. เศรษฐกิจ Q1 แย่กว่าที่คาด
  • ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พบว่าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 51.9 มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 59 แย่ลงกว่าปลายปี 58 สาเหตุน่าจะมาจากปัจจัยกำลังซื้อในประเทศที่ยังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ปัญหา ภัยแล้ง และภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้มีการปรับคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของจีดีพี ในปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.6 จากปี 58 ที่อยู่ในระดับร้อยละ 2.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลก กอปรกับในช่วงนี้ไทยต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่งผลให้ตลาดในประเทศมีกำลังซื้อน้อยลง ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งเกษตรกร และภาคธุรกิจผู้ส่งออกรวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่อาจเผชิญสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นมีรายได้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายประสบกับต้นทุนค่าแรงสูง ซึ่งทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อการกระตุ้นการใช้จ่าย และเศรษฐกิจของประชาชน อาทิ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย มาตรการเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีในระยะเร่งด่วน เพื่อช่วยให้เกิดเงิน
2. TMB คาด กนง. คงดอกเบี้ยร้อยละ 1.5
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดที่ประชุม กนง. ในวันพุธนี้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 1.50 แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 59 ลงเพื่อขยายโอกาสที่ ธปท.จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประชุมคณะกรรมการการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะ มีขึ้นในพุธที่ 23 มี.ค. 59 คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ทาง กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 59 ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในปัจจุบันยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือน ม.ค. 59 อาทิ รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่หดตัวที่ร้อยละ -1.2 และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวร้อยละ -8.9 แม้ว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและการใช้จ่ายของภาครัฐก็ตาม นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ สศค. มีมุมมองในทิศทางเดียวกับ TMB ซึ่งคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
3. ธนาคารกลางจีนเล็งไฟเขียวให้นำเงินฝากไปลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น
  • นายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวว่า รัฐบาลจีนสนับสนุนให้นำเงินออมไปลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น เพื่อช่วยลดสัดส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงของประเทศ บทความที่เผยแพร่ บนเว็บไซต์ของธนาคารกลางอ้างถึงคำพูดของนายโจวในงานสัมมนาแห่งหนึ่งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สัดส่วนเงินฝากที่อยู่ในระดับสูงของประเทศถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินของประเทศอยู่ในระดับสูง เนื่องจากภาคธุรกิจต่างก็พึ่งพาเงินทุนจากการกู้ยืมผ่านทางการกู้เงินธนาคารและการออกหุ้นกู้
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศที่ดีประการหนึ่งคือ การกระจายแหล่งเงินทุนให้มีความสมดุลกันไม่ว่าจะมาจากสินเชื่อ การออกตราสารหนี้ และการออกตราสารทุน ซึ่งในกรณีของประเทศจีนในปัจจุบันมีสัดส่วนสินเชื่อต่อ GDP สูงมากถึงประมาณ เนื่องจากทางการเงินของประเทศนั้นมูลค่าตลาดหุ้นของจีนทั้ง 2 ตลาดหลักอยู่ที่ประมาณกว่าร้อยละ 140 ของ GDP ในขณะที่มูลค่าตลาดหลักทรัพย์หลัก ทั้งสองตลาดของจีนปัจจุบันมีมูลค่ารวมกันไม่ถึงมูลค่า GDP อีกทั้งตลาดตราสารหนี้ ซึ่งแม้จะมีการเติบโตสูงในหลายปีที่ผ่านมาแต่เมื่อเทียบกับการระดมทุนผ่านสินเชื่อและตราสารทุนข้างต้นยังถือว่ามีสัดส่วนที่เล็กกว่ากันมาก ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดความสมดุลระหว่างภาคการธนาคารและตลาดทุนให้มีความสมดุลยิ่งขึ้นจึงเป็นทิศทางที่ช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ