รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2016 13:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2559

Summary:

1. นักท่องเที่ยว ช็อปไทยรายได้พุ่ง

2. ข้าวไทยยังขายดีสวนเศรษฐกิจโลก "พาณิชย์" โรดโชว์ปั๊มส่งออก 2 เดือนครึ่งขยายตัวร้อยละ 28

3. มาร์กิตเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นญี่ปุ่นเดือนมี.ค. 59 ลดลงมาอยู่ที่ 49.1

1. นักท่องเที่ยว ช็อปไทยรายได้พุ่ง
  • สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTCC) เผยรายงานผลจากการท่องเที่ยวที่มีต่อเศรษฐกิจประจำปี 59 พบว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยปรับขึ้นจากอันดับที่ 10 ในปี 57 เป็นอันดับที่ 4 ในปี 58 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 1,678.9 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ WTCC คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ในปี 59 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 ภายในปี 69 จะทำให้ไทยขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว จากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานยังขยายตัวได้ดีจากภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน ม.ค.59 มี 3.0 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 15 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 10.6 ต่อเดือน โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจาก จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย เป็นสำคัญ โดยขยายตัวร้อยละ 45.4 14.3 และ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ และจากข้อมูลของศูนย์วิจัยตลาดการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนทั้งประทศเดือน ม.ค.59 อยู่ที่ 164.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ +20.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากคงต่างประทศ 115.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ +26.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และรายได้จากคนไทย 48.9 พันล้านบาท หรือขยายตัว +9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 33 ล้านคน และรายได้ 1.67 ล้านล้านบาท (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และรายได้จากการท่องเที่ยวไตรมาสที่ 1 ปี 59
2. ข้าวไทยยังขายดีสวนเศรษฐกิจโลก "พาณิชย์" โรดโชว์ปั๊มส่งออก 2 เดือนครึ่งขยายตัวร้อยละ 28
  • นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 มี.ค. 59 มีปริมาณ 2.38 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 58 ที่ส่งออกได้ปริมาณ 1.85 ล้านตัน โดยมีมูลค่า 37,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 29,900 ล้านบาท โดยแยกเป็นเดือน ม.ค. ส่งออกได้ 1.02 ล้านตัน เดือน ก.พ. 905,000 ตัน และครึ่งเดือน มี.ค. 59 ส่งออกได้ 425,000 ตัน ซึ่งประเมินว่าทั้งปี 59 ไทยจะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ 9.5 ล้านตัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 58 มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยมีมูลค่า 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท) หดตัวร้อยละ -15.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมูลค่าส่งออกข้าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด สำหรับตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ในปี 58 ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ เป็นสำคัญ โดยมีมูลค่าส่งออกข้าวที่ 480 410 และ 298 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 59 มูลค่าการส่งออกข้าวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า และการคาดการณ์ราคาข้าวที่อาจปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบภัยแล้ง รวมทั้ง ผลจากการดำเนินการหาตลาดส่งออกข้าวไปยังประเทศใหม่ๆ ของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งได้ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกข้าว และยังช่วยให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกรวมของไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.1 (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ช่วงครึ่งแรกปี 59
3. มาร์กิตเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นญี่ปุ่นเดือนมี.ค. 59 ลดลงมาอยู่ที่ 49.1
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของญี่ปุ่น ในเดือนมี.ค. 59 ซึ่งจัดทำโดยมาร์กิต/นิกเกอิ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.1 จากระดับ 50.1 ในเดือนก.พ. โดยเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปี เนื่องจากการส่งออกล็อตใหม่ในภาคการผลิตปรับตัวลดลงสอดคล้องกับดัชนีการส่งออกล็อตใหม่ในภาคการผลิต ปรับตัวลงสู่ระดับ 45.9 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 49.0 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว สอดคล้องกับเครื่องเศรษฐกิจล่าสุด จากมูลค่าการส่งออก เดือนก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม (Quantitative and Qualitative Easing: QQE) และการใช้อัตราดอกเบี้ยแบบติดลบ (Negative Interest Rate) ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี สำหรับเงินสำรองส่วนเกินสถาบันการเงินที่ฝากไว้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น เพื่อให้ภาคสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อและมีสภาพคล่องเพิ่มเติมลงสู่เศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.4 - 1.4 ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ