รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2016 11:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2559

Summary:

1. สมคิดหวังกองทุนฟื้นฟูฯ สร้างเกษตรกรสมัยใหม่

2. บูมการค้าชายฝั่ง 3 ประเทศ

3. รมว.พาณิชย์ เผยไทยพร้อมฟื้นเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป หวังเชื่อมโยงการค้า-สังคม

1. สมคิดหวังกองทุนฟื้นฟูฯ สร้างเกษตรกรสมัยใหม่
  • สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ชี้การแก้ปัญหาภาคเกษตรควรแก้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยต้องการให้ตัวแทนสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรช่วยกันสร้างเกษตรกรสมัยใหม่ เพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน เน้นการปลูกพืชหลากหลาย ให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สิน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้แข่งขันได้ โดยผ่านโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ในวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าในปี 59 GDP ภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มที่จะเติบโตร้อยละ 1.8 - 2.8 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มี.ค. 59) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ปัญหาภัยแล้ง โดยล่าสุดมีพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งถึง 18 จังหวัด 68 อำเภอ 306 ตำบล และ 2,580 หมู่บ้าน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่าปัญหาภัยแล้งจะบรรเทาลงในกลางปี 59 จากแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงปลายปีซึ่งจะทำให้มีฝนตกชุก ทำให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ระดับหนึ่ง ในส่วนของการแก้ปัญหาระยะยาวของภาคเกษตร จำเป็นจะต้องมีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร โดยในปัจจุบัน ภาครัฐได้มีโครงการให้วงเงินจำนวน 3.5 หมื่นล้านผ่านกองทุนหมู่บ้านเพื่อสนับสนุนการลงทุนระดับท้องถิ่น โดยนโยบายนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของภาคเกษตรได้ในอนาคต
2. บูมการค้าชายฝั่ง 3 ประเทศ
  • นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช. คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ด้านการเดินเรือตามแนวชายฝั่งระหว่างไทยกัมพูชา- เวียดนาม ว่าปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศเวียดนามและกัมพูชาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หากสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าจะส่งผลให้เกิดความสะดวกด้านการค้าและสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาและเวียดนามขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลการส่งออกของไทยไปยังกัมพูชาในปี 58 มีมูลค่า 4,958.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวดีที่ร้อยละ 9.6 และการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามในปี 58 มีมูลค่า 8,907.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 13.0 ทั้งนี้ หากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้า ทั้งคลังสินค้า ศูนย์โลจิสติกส์ เขตปลอดภาษี ตลอดจนการเชื่อมต่อจุดขนส่งสินค้าทั้งทางน้ำ ทางราง และทางบก จะส่งผลดีต่อการบริหารโลจิสติกส์ในประเทศได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการให้ขยายตลาดและต่อยอดธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น และในท้ายที่สุด จะส่งผลต่อเนื่องต่อมูลค่า การส่งออกรวมของไทยในอนาคตให้ขยายตัวดี
3. รมว.พาณิชย์ เผยไทยพร้อมฟื้นเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป หวังเชื่อมโยงการค้า-สังคม
  • นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังหารือกับนาย David Martin สมาชิกรัฐสภายุโรปว่า ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะที่ผ่านมารัฐสภายุโรปมีบทบาทสำคัญต่อนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป โดยเน้นเรื่องการเชื่อมโยงประเด็นทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย กับประเด็นด้าน เศรษฐกิจการค้ามากยิ่งขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมา การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากการเจรจาดังกล่าวไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่การลดภาษีสินค้า และลดอุปสรรคทางการประกอบธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงประเด็นใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงการค้า และประเด็นด้านสังคมไว้ด้วยกัน เช่น การค้าและพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา และความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ซึ่งหากการเจรจาสรุปผลลง จะช่วยดึงดูดการลงทุนและ ช่วยให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการค้าระหว่างประเทศของโลกอยู่แล้ว เพราะหากไทยไม่สามารถปรับปรุงมาตรฐานและกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลได้ ย่อมมีปัญหาในด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในวงกว้างอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ขนาดมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรปปอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.3 รองจากสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ