Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2559
1. สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.พ.59 หดตัวร้อยละ -1.62
2. ธปท.เผย IMF ประเมินเศรษฐกิจไทย คาด GDP ปี 59 โตร้อยละ 3 ปี 60 โตร้อยละ 3.2
3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกาหลีใต้เดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
- นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีอัตราการหดตัวร้อยละ -1.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังผลิตที่ยกระดับเพิ่มขึ้นที่ 65.7 ในรอบ 11 เดือน อย่างไรก็ดี กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ +2.62
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.พ. 59 ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลต่อดัชนีฯ มีการปรับตัวลดลง อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ประกอบกับความต้องการใช้เหล็กในประเทศมีแนวโน้มลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ เดือน ก.พ. 59 เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก พบว่ายังขยายตัวได้ที่ร้อยละ +1.9 (%mom SA) จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ผลผลิตอุตสาหกรรมรวม เช่น เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติกและเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น จับตา: ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.และไตรมาสแรกปี 59
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 58 เริ่มฟื้นตัว หลังจากที่ชะลอลงในช่วงก่อนหน้าจากปัญหาทางการเมือง โดยขยายตัวได้ร้อยละ +2.8 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ร้อยละ -0.9 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.ที่ร้อยละ 2.5 ฑ 1.5 จากราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อคาดการณ์ปรับลดลงเช่นกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 59 มีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้นจากปีก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 โดยได้รับอานิสงค์จากมาตรการสนับสนุนต่อเนื่องของภาครัฐจากปีที่แล้ว อาทิ มาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ การลดค่าธรรมเนียมและค่าโอนเหลือร้อยละ 0.01 ที่จะสิ้นสุดเดือนเม.ย. นี้ และยังได้รับแรงส่งจาก โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ ที่รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชน ภายใต้วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท รวมถึง การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐจะส่งผลต่อเนื่องไปยัง การลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัวได้ ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากปริมาณนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 59 สศค. คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.3 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค.59) ตามการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่พลังงาน เป็นสำคัญ: จับตา: ความเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงครึ่งแรกปี 59
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCSI) ในเดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 100 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 2 ระดับ ในเดือน ก.พ.59 ที่อยู่ที่ระดับ 98 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลีช่วงเดือน มี.ค. ผ่อนคลายลง ภาวะตลาดหุ้นในประเทศจึงมีเสถียรภาพมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า 1) ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังจากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว 2) อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ยังมีปัจจัยกดดันสำคัญ จากการหดตัวของการค้าระหว่างประเทศ โดยล่าสุดการส่งออกของเกาหลีใต้ ในเดือน ก.พ. 59 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ที่ร้อยละ -12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 3) สศค. คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 59 จะอยู่ที่ ร้อยละ 2.7 ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59 และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนเม.ย. 59 นี้ จับตา: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 59
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257