รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 เมษายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2016 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 เมษายน 2559

Summary:

1. หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 81.5 ต่อ GDP

2. เงินทุนไหลเข้าประเทศเกิดใหม่ เดือน มี.ค. 59 สูงสุดในรอบ 21 เดือน

3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ของเกาหลีใต้กลับมาขยายตัวครั้งแรกใน 3 เดือน

1. หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 81.5 ต่อ GDP
  • หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 58 อยู่ที่ 11.04 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.5 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 12 จากการชะลอลงของสินเชื่อเกือบทุกประเภท และสินเชื่อรถยนต์ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 แต่หดตัวในอัตรา ที่ชะลอลง ทั้งนี้ หากไม่รวมสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้ครัวเรือนกู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ร้อยละ 67.2 ต่อ GDP
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เป็นผลจากการที่ GDP มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าการขยายตัวของหนี้ โดย GDP ณ ราคาปัจจุบัน แม้ว่าจะขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังคงขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังคงเพิ่มสูงขึ้นแม้การเติบโตของหนี้จะชะลอลง ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่ครัวเรือนกู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.6 และร้อยละ 14.0 และมีสัดส่วนร้อยละ 28 และร้อยละ 18 ตามลำดับ เป็นหลัก ด้านคุณภาพสินเชื่อยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเล็กน้อยแต่ยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ
2. เงินทุนไหลเข้าประเทศเกิดใหม่ เดือน มี.ค. 59 สูงสุดในรอบ 21 เดือน
  • สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance: IIF) เปิดเผยว่า เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าตลาดการเงินทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ของประเทศเกิดใหม่ในเดือน มี.ค. 59 มีมูลค่ารวมสูงถึง 36,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี 10 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 57 นับว่าสูงกว่าเงินทุนไหลเข้าเฉลี่ยระหว่างปี 2553-2557 ที่ 22,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยส่วนใหญ่ไหลเข้าตลาดเอเชีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าประเทศเกิดใหม่โดยเฉพาะเอเชียในช่วงนี้ เป็นผลจากแนวโน้มมาตรการทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่เน้นสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาลง สะท้อนจากการประกาศดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบติดลบและการขยายขนาดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม (QE) ของธนาคารกลางญี่ปุ่นและยุโรปในช่วงที่ผ่านมา และท่าทีที่อ่อนลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. 59 ทำให้นักลงทุนต่างชาติคลายความกังวล และกลับเข้าถือหลักทรัพย์ในตลาดการเงินของประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทย เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1- 30 มี.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ (ไม่รวมพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย) ของไทยทั้งสิ้น 24,662 และ 4,089 ล้านบาท ตามลำดับ
3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ของเกาหลีใต้กลับมาขยายตัวครั้งแรกใน 3 เดือน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้เปิดเผย ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรก หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ของเกาหลีใต้ซึ่งกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ -2.2 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการกลับมาขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งขยายตัวได้ ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในหมวดสินค้าทุนยังคงหดตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ -6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยนับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ทั้งนี้ การกลับมาขยายตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 59 มีส่วนสำคัญมาจากปัจจัยฐานซึ่งต่ำกว่าปกติในปีก่อนหน้า จึงยังคงไม่อาจชี้ชัดได้ว่า มีสัญญาณฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ ด้านอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ยังคงสะท้อนภาวะซบเซา โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ของเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับ 48.7 จุด ซึ่งลดต่ำลงจากระดับ 49.5 จุดในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. 59 ยังคงหดตัวสูงที่ร้อยละ -12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยนับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ