รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 1 เมษายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 4, 2016 11:02 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การส่งออกในเดือน ก.พ. 59 มีมูลค่า 18,993.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกที่ร้อยละ 10.3
  • การนำเข้าในเดือน ก.พ. 59 มีมูลค่า 14,007.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ร้อยละ -16.8
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.5
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.พ. 59 หดตัวที่ร้อยละ -3.8
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 59 มีจำนวน 17,826 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -29.9
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 59 มีจำนวน 39,267 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.9
  • หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 58 อยู่ที่ 11.04 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.5 ต่อ GDP
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 108.8 หดตัวร้อยละ -1.6
  • สินเชื่อในสถาบันการเงิน เดือน ก.พ. 59 มียอดคงค้าง 16.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.8
  • เงินฝากในสถาบันการเงิน เดือน ก.พ. 59 มียอดคงค้าง 17.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.1
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.พ. 59 เกินดุล 7,401.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.0
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ -9.7 จุด

Indicator next week

Indicators                Forecast   Previous
Mar : Motorcycle (%YOY)    -0.8       -11.1
  • หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.1 โดยคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากโปรโมชั่นของผู้จัดจำหน่ายในช่วงสิ้นไตรมาส
Economic Indicators: This Week
  • การส่งออกในเดือน ก.พ. 59 มีมูลค่า 18,993.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกที่ร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 13 เดือน โดยเป็นผลมาจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 1,050.8 เป็นสำคัญ หลังราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นการส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ที่ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 4,348.2 ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ร้อยละ 13.8 และ 15.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการส่งออกเมื่อหักทองคำออกแล้ว พบว่าขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -2.6 และปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 13.2 ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การนำเข้าในเดือน ก.พ. 59 มีมูลค่า 14,007.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ร้อยละ -16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12.4 โดยเป็นการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัว ในระดับสูงที่ร้อยละ -20.9 และ -32.8 ตามลำดับ รวมถึงสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -12.9 และ -5.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้ายานยนต์กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 8.1 ในส่วนของราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -8.4 และปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -9.2 ทั้งนี้ จากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.พ. 59 เกินดุล 5.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยผลกระทบทางลบ ที่เกิดจากราคาน้ำมันมีผลลดลงจากช่วงต้นปี เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และผักผลไม้มีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากหมดเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ ราคาสินค้าประเภทยาสูบยังคงมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มค่าแสตมป์ยาสูบเมื่อเดือน ก.พ. 59 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.พ. 59 หดตัวที่ร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -1.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเหล็กราคาต่ำจากจีนที่เข้ามาแข่งขันเหล็กในประเทศ
Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 59 มีจำนวน 17,826 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -29.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -30.0 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) เนื่องจากมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 59 กอปรกับในเดือนก่อนหน้ามีงานมหกรรมยานยนต์ (Motor Expo) ทำให้มีการเร่งการบริโภคไปแล้วก่อนหน้านี้ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งจึงยังคงหดตัวในเดือน ก.พ. 59 นี้
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 59 มีจำนวน 39,267 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ในเดือน ก.พ. 59 ที่มีการขยายตัวร้อยละ2.2 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาลจากความนิยมในรถกระบะ รุ่นใหม่
  • หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 58 อยู่ที่ 11.04 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.5 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 12 จากการชะลอลงของสินเชื่อเกือบทุกประเภท และสินเชื่อรถยนต์ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 แต่หดตัวในอัตราชะลอลง ทั้งนี้ หากไม่รวมสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้ครัวเรือนกู้เพื่อใช้ ในการประกอบธุรกิจ หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ร้อยละ 67.2 ต่อ GDP
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 108.8 หดตัวร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการหดตัวมาจากการผลิตในหมวด เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และการผลิตโลหะขั้นพื้นฐานที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ โดยหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.9
Economic Indicators: This Week
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 59 มียอดคงค้าง 16.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า(ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่ร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 59 มียอดคงค้าง 17.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นเล็กน้อยจากการเร่งขึ้นของเงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่การขยายตัวของเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.พ. 59 เกินดุล 7,401.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลในปี 48 ดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นมากที่ 5,977.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการส่งออกทองคำเพื่อเก็งกำไร ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวสูง ตามราคาน้ำมันและโลหะในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำ ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลลดลงเล็กน้อยที่ 1,423.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีรายรับจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์ระเบิดกรุงเทพฯ ในปีก่อน และเป็นผลทางฤดูกาลของเทศกาลตรุษจีน ทำให้มีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 11,467.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicator: Next Week
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มี.ค. 59 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.1 โดยคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากโปรโมชั่นของผู้จัดจำหน่ายในช่วงสิ้นไตรมาส

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นจากการประกาศครั้งก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 96.2 จุด เพิ่มขึ้นจากมุมมองเศรษฐกิจล่วงหน้า 6 เดือน ด้านบรรยากาศการจ้างงานที่มีแนวโน้มค่อนข้างดี

China: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ NBS เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 53.8 จุด เพิ่มขึ้นจาก 52.7 จุด ในเดือนก่อน สะท้อนภาคบริการของจีนที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม NBS เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50.0 จุด ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin เดือน ก.พ. 59 ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด จาก 48.0 จุดในเดือนก่อน แม้ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด เป็นเดือนที่ 13

Japan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.2 ในเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าทั่วไป ผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องใช้ในห้องน้ำ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ -3.8 ในเดือนก่อน จากการผลิตสินค้าส่วนใหญ่ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด ลดลงจาก 50.1 จุดในเดือนก่อนหน้า ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ -9.7 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และความเสี่ยงจากการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 59 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยแม้ว่าราคาพลังงานจะหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและบริการ

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -10.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -3.8 ในเดือนก่อน นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -10.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -9.0 ในเดือนก่อน นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นจากที่ขาดดุล 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -20.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวสูงสุดในรอบ 17 ปี จากยอดขายสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือย ที่หดตัวเร่งขึ้น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน

South Korea: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 49.5 จุด จากระดับ 48.7 จุด ในเดือนก่อน จากผลผลิต ที่หดตัวชะลอลงและยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เริ่มทรงตัว

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.1 จุด จากที่อยู่ที่ระดับ 49.4 ในเดือนก่อน จากผลผลิตและการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น

Indonesia: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด สูงกว่าระดับ 50.0 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง สะท้อนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จากผลผลิตและคำสั่งซื้อที่กลับมาขยายตัว

United Kingdom: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 59 ทรงตัวที่ระดับ 0.0 จุด โดยมุมมองทางด้านการเงินปรับตัวดีขึ้น ขณะที่แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยลดต่ำลง

Australia: improving economic trend

ดัชนีผลประกอบการภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ 58.1 จุด สูงที่สุดในรอบ 12 ปี โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งในส่วนของยอดขาย ยอดสั่งซื้อ และการจ้างงาน โดยยอดขายได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 1,400 จุดอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 31 มี.ค. 59 ปิดที่ 1,407.7 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เพียง 40,501 ล้านบาท โดยดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดในภูมิภาค เนื่องจากการแถลงของนางเจนเน็ต เยนเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ครั้งต่อไปในวันที่ 26-27 เม.ย. นี้ และทำให้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28-31 มี.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิสูงถึง 11,399.2 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีความชันลดลง โดยอัตราผลตอบแทนอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลง 2-10 bps เนื่องจากการแถลงของนางเจนเน็ต เยนเลน ดังกล่าว ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28-31 มี.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 6,844.5 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. 59 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.20 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลอื่นๆ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.75 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ