รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 เมษายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 5, 2016 11:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 เมษายน 2559

Summary:

1. กกร.คงคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 3.5

2. อิหร่านส่งออกน้ำมันกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนประชุมโอเปกเปิดฉาก

3. เกาหลีใต้กวาดเม็ดเงิน FDI เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 ในไตรมาสแรกปี 59

1. กกร.คงคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 3.5
  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า น่าจะเติบโตในช่วงร้อยละ 3.0 - 3.5 บนสมมติฐานที่อยู่ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อในระดับต่ำ การส่งออกที่มีการขยายตัวในบางช่วงของปี โดย กกร. เชื่อว่า การเร่งลงทุนของภาครัฐ แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมา จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในกรอบการประมาณการได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตลอดปี 59 คาดว่าจะอยู่ที่ ร้อยละ 3.7 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 - 4.2 (ประมาณการ ณ ม.ค. 59) โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ ที่รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ภายใต้วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท และนอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคมขนส่ง ขณะที่มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. 59 มีการขยายตัวถึงร้อยละ 10.3 โดยมีการขยายตัวในเกือบทุกตลาดคู่ค้าหลักทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐ ฮ่องกง และอาเซียน-5 ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ส่วนด้านการท่องเที่ยวในเดือน ก.พ. 59 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยที่จำนวน 3.1 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 16 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน และเกาหลีใต้ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ 10.9 ทั้งนี้ คงต้องรอติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไป โดย สศค. จะทำการปรับคาดการณ์ GDP อีกครั้งในช่วงปลายเดือน เม.ย. 59
2. อิหร่านส่งออกน้ำมันกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนประชุมโอเปกเปิดฉาก
  • นายบิจาน ซานเกเนห์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอิหร่านเปิดเผยว่า อิหร่านได้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 250,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนมี.ค. สู่ระดับสูงกว่า 2 ล้านบาร์เรล ต่อวัน โดยอิหร่านผลิตและส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ที่ได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร จากประเทศตะวันตกในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวค่อนข้างช้า ส่งผลให้อุปสงค์ของน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปริมาณ การผลิตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ในปี 58 ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของราคาเฉลี่ยในปี 57 โดยลดลงจากราคาเฉลี่ย 96.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 57 เหลือเพียงราคาเฉลี่ย 51.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 58 (คิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -47.2) และข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ต้นปี 59 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 30.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถือว่ายังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลัก (กลุ่มโอเปก) จะทำการประชุมในวันที่ 17 เม.ย. นี้ เพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงและเป็นแรงส่งให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูการผลิตน้ำมันของอิหร่านหลังจากได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรว่าจะลดกำลังการผลิตลงหรือไม่ เนื่องจากประเทศอิหร่านต้องการส่งออกน้ำมันเพื่อชดเชยในช่วงโดนคว่ำบาตรก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 59 ว่าจะอยู่ที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่จะทำการปรับประมาณการอีกครั้งในสิ้นเดือน เม.ย. 59 นี้
3. เกาหลีใต้กวาดเม็ดเงิน FDI เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 ในไตรมาสแรกปี 59
  • กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า เกาหลีใต้มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไตรมาสแรกปี 59 ทั้งสิ้น 4.24 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 ต่อปี โดยเป็นเม็ดเงินลงทุนจากยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 405.8 ต่อปี เนื่องจากบริษัทยุโรปได้เพิ่มการลงทุน ในภาคบริการ ขณะที่บริษัทจีนเข้ามาลงทุนในภาคการผลิตของเกาหลีเพิ่มขึ้นร้อยละ 603.8 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอด FDI ของเกาหลีใต้ในไตรมาสแรกปี 59 เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงแนวโน้มของความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต และจากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ล่าสุดสะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 49.5 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.7 จุด บ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม FDI ภาคบริการของ เกากลีใต้ชะลอตัวเล็กน้อย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์เศรษฐกิจเกาหลีในปี 59 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ