รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 เมษายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 20, 2016 13:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 เมษายน 2559

Summary:

1. BOI ชี้ 3 เดือนแรกการลงทุนกลุ่มเกษตรพุ่ง 2.7 หมื่นล้าน

2. พาณิชย์ เผยผู้ผลิตปุ๋ยเคมียอมลดราคาปุ๋ย 11 สูตร ลงร้อยละ 5 -15

3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 59 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.8

1. BOI ชี้ 3 เดือนแรกการลงทุนกลุ่มเกษตรพุ่ง 2.7 หมื่นล้าน
  • นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 59 ที่ผ่านมา การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตรมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้วรวม 78 โครงการ เงินลงทุนกว่า 27,041 ล้านบาท และเมื่อโครงการทั้งหมดเปิดดำเนินการประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จากมูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศปีละกว่า 84,400 ล้านบาท และสร้างรายได้จากการส่งออกสูงกว่า 62,600 ล้านบาทต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรกรรมและผลิตผลจาการเกษตรมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น (Local Investment) ของบีโอไอ ซึ่งมาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เกิด "1 ตำบล 1 โรงงานแปรรูปเกษตร 1 แหล่งท่องเที่ยว" เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ซึ่งการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่ผลผลิตทางการเกษตร และยังเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นวัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรม สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย นอกจากนี้ บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ซึ่งช่วยสนับสนุนการลงทุนกลุ่มอุตฯเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตรให้เติบโตเพิ่มขึ้น โดยมาตรการสนับสนุนการลงทุนของบีโอไอดังกล่าวยังช่วยให้การลงทุนโดยรวมเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2559 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในปี 59
2. พาณิชย์ เผยผู้ผลิตปุ๋ยเคมียอมลดราคาปุ๋ย 11 สูตร ลงร้อยละ 5 -15
  • อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยว่า ทางสมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิก 44 บริษัท ครอบคลุมผู้ค้าปุ๋ยเคมีประมาณ 70% ของทั้งประเทศ ให้ความร่วมมือปรับลดราคาปุ๋ยเคมี (กระสอบละ 50 กิโลกรัม) ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูกพืชเกษตรจำนวน 11 สูตร ซึ่งปรับลดราคาตั้งแต่ร้อยละ5-15 มีผลตั้งแต่บัดนี้ จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.59 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรไทย ต้องประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ 1) ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สะท้อนจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรในช่วง 2 เดือนแรกปี 59 หดตัวร้อยละ -6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 2) ปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิต ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกปี 59 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงปรับลดลง มาอยู่ที่ร้อยละ -8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการปรับลดลงราคาปุ๋ยเคมีนั้น จะช่วยปรับลดต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร และจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรลงได้บ้าง จับตา: สถานการณ์ภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรปี 59
3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 59 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.8
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.0 เนื่องจากเกาหลีใต้เผชิญกับแรงกดดันในช่วงขาลงจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังจากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว 2) อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ยังมีปัจจัยกดดันสำคัญ จากการหดตัวของการค้าระหว่างประเทศ โดยล่าสุดการส่งออกของเกาหลีใต้ ในเดือน มี.ค.59 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ที่ร้อยละ -8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.5 (ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50) และ 3) สศค. คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 59 จะอยู่ที่ ร้อยละ 2.7 ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59 และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนเม.ย. 59 นี้ จับตา: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ