Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 เมษายน 2559
1. กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นมหานครแห่งอาเซียน
2. ผู้บริหารบริษัทจัดการสินทรัพย์รายใหญ่ของโลกคาด เศรษฐกิจจีนปี 59 จะขยายตัวได้ตามเป้า
3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป
- นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ระบบโครงสร้างพื้นฐานก้าวไกล สู่ใจประชารัฐ" ว่า รัฐบาลจะเร่งรัดโครงการพัฒนาพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาไทยให้เป็นมหานครแห่งอาเซียนที่มีการคมนาคมขนส่งสะดวก สะอาด และน่าอยู่อาศัย โดยกระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ระยะ 8 ปี (2558-2565)
- สศค. วิเคราะห์ว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อภาคประชาชนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนภาคธุรกิจให้ประกอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากช่วยลดต้นทุนด้านค่าขนส่ง และทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการขยายตลาดสู่ประเทศในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ จากการจัดอันดับของธนาคารโลกในด้านประสิทธิภาพด้านคมนาคมขนส่งนั้น ในหมวดคุณภาพการค้าการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลกได้จัดอันดับให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ มีพัฒนาการด้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเร่งด่วน โดยแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวนั้นครอบคลุมการคมนาคมขนส่งทั้งระบบ ทั้งขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ อาทิ โครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ระยะทาง 464 กิโลเมตร) รถไฟรางคู่ 6 เส้นทาง (ระยะทาง 905 กิโลเมตร) รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯนครราชสีมา (ระยะทาง 250 กิโลเมตร) และการเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารของสนามบินในประเทศที่มีอยู่เดิม
- นายลอเรนซ์ ฟิ้งค์ ผู้บริหาร BlackRock Inc ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีสินทรัพย์ในการดูแลสูงกว่า 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของทางการจีนจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในปี 59 สามารถขยายตัวได้ดี และเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ในจีนในปีนี้ แต่การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงฟองสบู่ในเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน เช่น การปรับลดสัดส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องในเดือน มี.ค. 59 และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคการเงินเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้เริ่มเห็นผลแล้ว สะท้อนจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 1 ปี 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อน แต่ยังอยู่เหนือระดับที่ตลาดคาด และอยู่ในช่วงเป้าหมายการเติบโตที่ทางการจีนได้ตั้งไว้ ประกอบกับเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนที่สำคัญหลายตัวมีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง เช่น ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ราคาบ้านใหม่กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ในเดือน มี.ค. 59 อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลเข้าสู่ตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องและการปรับสัดส่วนการดำรงค์สินทรัพย์สภาพคล่องลง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในภาคการเงินจีนในระยะต่อไป หากสินเชื่อมีอัตราการเติบโตเร็วจนเกินไปและมีคุณภาพต่ำ โดยในเดือน มี.ค. 59 ยอดระดมทุนในจีนเพิ่มขึ้นกว่า 2.3 แสนล้านหยวน คิดเป็นขยายตัวกว่าร้อยละ 87.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงและจำเป็นจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมช่วงวันที่ 27 - 28 เม.ย. 59 มีมติคงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินผ่านมาตรการ QQE ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปีเท่าเดิม และคงอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี สำหรับเงินสำรองส่วนเกินที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลาง พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 59 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ลดลงจากร้อยละ 1.5 ในการประมาณการครั้งก่อนเมื่อเดือน ม.ค. 59
- สศค. วิเคราะห์ว่า ก่อนหน้านี้ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า BOJ จะมีมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่เมื่อมติดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้ จึงส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 28 เม.ย. 59 ส่วนใหญ่มีทิศทางปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้า อาทิ ดัชนีนิกเคอิ 225 ปรับตัวลดลงร้อยละ -3.6 ดัชนี Shanghai ลดลงร้อยละ -0.3 ส่วนดัชนี SET ของไทยปรับลงเช่นกันที่ร้อยละ -0.4 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 59 ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ (1) ความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือน เม.ย. 59 ที่อาจกระทบภาคการผลิต (2) เงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าไม่เป็นผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของการส่งออกสินค้าและบริการของญี่ปุ่น และ (3) การบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 58.0 ของ GDP ปี 58 ยังคงชะลอตัว สะท้อนจากยอดค้าปลีกไตรมาส 1 ปี 59 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นของ BOJ สอดคล้องกับคาดการณ์ของ สศค. ในเดือน เม.ย. 59 ที่มีการปรับลดเช่นกัน โดย สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 0.8 ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนเล็กน้อย
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257