Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2559
Summary:
1. พาณิชย์เผย CPI เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.07 เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 15 เดือน
2. นายกฯเปิดงานวันแรงงาน รับข้อเรียกร้อง 15 ข้อ
3. เกาหลีใต้ เผยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเดือนที่ 49 ติดต่อกัน
1. พาณิชย์เผย CPI เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.07 เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 15 เดือน
- โฆษกกระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน เม.ย.59 อยู่ที่ 106.42 ขยายตัว ร้อยละ 0.07 เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.58 ซึ่งเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 15 เดือน และขยายตัวร้อยละ 0.55 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน เม.ย.59 อยู่ที่ 106.53 ขยายตัวร้อยละ 0.78 เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.58 และ ขยายตัวร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค. 57 เป็นต้นมา โดยได้รับแรงส่งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ถึงแม้ว่าราคาจะยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ และผลของปัญหาภัยแล้ง โดยในเดือน เม.ย. 59 นี้ ดัชนีราคาปรับเพิ่มขึ้นในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 13.13) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 1.57) ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดพาหนะ ขนส่ง และการสื่อสาร ยังคงปรับลดลงร้อยละ -2.85 สำหรับ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 59 (ม.ค.-เม.ย.) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบที่ร้อยละ -0.4 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ ในปี 59 สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59)
2. นายกฯเปิดงานวันแรงงาน รับข้อเรียกร้อง 15 ข้อ
- พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 59 โดยได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของแรงงาน 15 ข้อที่ทางคณะกรรมการแรงงานเสนอว่า ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน บางเรื่องกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งยังกล่าวต่ออีกว่า แรงงานถือเป็นกลไกสำคัญของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และกฎหมาย โดยรัฐบาลจะดูแลแรงงานทุกภาคส่วนทั้งแรงงานในและนอกประเทศ ทั้งยังต้องส่งเสริมแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์เข้ามาแทนแรงงานที่ไม่มีทักษะมากขึ้น ดังนั้น แรงงานควรหมั่นพัฒนาความรู้และทักษะของตนเพื่อที่จะได้สามารถเลือกงานหรือโรงงานได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีการจ้างงานรวมทั้งประเทศ ในเดือน มี.ค. 59 จำนวน 37.6 ล้านคน หดตัวร้อยละ -0.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนเดียวกัน มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวน 9.2 ล้านคน มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 24.6 ของการจ้างงานทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 59 มีการหดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสาขาการผลิต หดตัวถึงร้อยละ -5.7 โดยมีสาเหตุมาจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ปรับโครงสร้างการผลิตจากการผลิตแบบเน้นแรงงานไปเป็นการผลิตแบบที่มีการนำเอาปัจจัยทุน หรือปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาแทนแรงงานไร้ฝีมือ ทำให้มีความต้องการจ้างแรงงานดังกล่าวลดลง อย่างไรก็ดีความต้องการแรงงานประเภทแรงงานที่มีทักษะจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรม (ซูเปอร์คลัสเตอร์) ใน 6 สาขา โดยต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น และพยายามผลักดันให้เกิดแรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ
3. เกาหลีใต้ เผยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเดือนที่ 49 ติดต่อกัน
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า เกาหลีใต้มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.009 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน มี.ค. 59 ซึ่งทำสถิติเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเดือนที่ 49 ติดต่อกัน เนื่องจากยอดการนำเข้าลดลงมากกว่ายอดส่งออก สำหรับช่วงไตรมาสแรกของปี 59 เกาหลีใต้มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดรวมกัน 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เกาหลีใต้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการนำเข้าที่ต่ำกว่าการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจาก GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อไตรมาส ทำให้ในปี 58 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนเม.ย. 59)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257