ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติฯ จะช่วยให้บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการองค์กร สามารถดำเนินธุรกรรมได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยของประเทศตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง บตท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปรับปรุงคำนิยามคำว่า “ตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย” เพื่อให้ครอบคลุมถึงการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการนำสินทรัพย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับการระดมทุน เช่น การออกตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ (Covered Bond) เพื่อเพิ่มช่องทางการระดมทุน ของ บตท. และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนในตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับนักลงทุน
2. ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของ บตท. ให้สามารถดำเนินการดังต่อไปนี้ได้
2.1 เพิ่มเติมการรับโอนสินทรัพย์จาก “ผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์” ซึ่งเดิม บตท. รับโอนสินเชื่อของสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
2.2 ดำเนินการก่อตั้งทรัสต์หรือเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์ เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และเพื่อให้สามารถดำเนินการการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์โดยกลไกของทรัสต์ได้
2.3 การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือกิจการรับบริหารจัดการธุรกรรมทางการเงินที่อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของ บตท.
2.4 ดำเนินการจัดตั้งหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ บตท.
2.5 กระทำการอันพึงเป็นกิจการที่ส่งเสริมและพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามที่คณะกรรมการ บตท. กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
3. แก้ไขเพิ่มเติมโครงสร้างของคณะกรรมการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยตัดกรรมการผู้แทน ธปท. ออก เนื่องจาก ธปท. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
4. ขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ บตท. ให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และมาตรฐานสัญญา เพื่อรองรับการโอนสินทรัพย์จากบุคคลอื่นได้ (เพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 2.1)
5. แก้ไขหลักเกณฑ์การค้ำประกันเงินกู้ของ บตท. เพื่อให้เป็นไปตาม พรบ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และเพิ่มบทบัญญัติให้ บตท. เป็นสถาบันการเงินภาครัฐตาม พรบ. ว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
ทั้งนี้ การแก้ไขพระราชบัญญัติฯ ที่กล่าวข้างต้น จะช่วยให้ บตท. สามารถดำเนินธุรกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยของประเทศผ่านทางธุรกรรมที่หลากหลาย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถบริหารองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักลงทุนด้วย
สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3281
โทรสาร 0 2618 3374
--กระทรวงการคลัง--