รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 - 19 พฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2016 13:19 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,013.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.0 ของ GDP
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน เม.ย. 59 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.1
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 59 ของญี่ปุ่น (ตัวเลขเบื้องต้น) ไม่ขยายตัว (ร้อยละ 0.0) จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 59 ของฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 0.8จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 59 ของฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. 59 ของสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 59 ของยูโรโซน กลับมาติดลบอีกครั้งที่ร้อยละ -0.2
  • เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 59 ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 59 ของสหราชอาณาจักร อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators           Forecast  Previous
April : TISI  (%YOY)   87.2     86.7
  • เนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีจากการกินและเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 9 - 17 เม.ย. 59 ที่รัฐบาลออกมาก จะช่วยเพิ่มยอดขายและคาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น
Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,013.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.0 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 7.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) (ร้อยละ 95.2 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 94.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน เม.ย. 59 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.1 แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -3.9 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 59 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ

Economic Indicator: Next Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 59 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.7 เนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีจากการกินและเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 9 - 17 เม.ย. 59 ที่รัฐบาลออกมา จะช่วยเพิ่มยอดขายและคาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการชะลอลงของยอดขายรถยนต์ อาหารเครื่องดื่ม และร้านขายสินค้าทั่วไป

China: improving economic trend

ราคาบ้านในเมืองใหญ่เฉลี่ย 70 เมือง เดือน เม.ย. 59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในเดือนก่อนหน้า และนับเป็นการเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี จากการเพิ่มขึ้นของราคาบ้านใน 46 จาก 70 เมือง ขณะที่ราคาบ้านในเซี่ยงไฮ้และเซิ่นเจิ้นซึ่งเป็นเมืองที่ราคาบ้านสูงที่สุดเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง

Japan: mixed signal

GDP ไตรมาส 1 ปี 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) ไม่ขยายตัว (ร้อยละ 0.0) จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้า อาทิ หมวดโลหะ โลหะประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมและถ่านหิน ที่ขยายตัว

Eurozone: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 59 กลับมาติดลบอีกครั้งที่ร้อยละ -0.2 จากการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยเฉพาะราคาในภาคบริการ ในเดือน มี.ค. 59 มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล)หดตัวในทุกหมวดสินค้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -2.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) หดตัวในทุกหมวดสินค้าเช่นกัน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 28.6 พันล้านยูโร

Hong Kong: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการลงทุนและส่งออกที่หดตัว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและภาครัฐชะลอตัวต่อเนื่อง อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อนหน้า

Malaysia:mixed signal

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 59 ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี เป็นเวลาเกือบ 2 ปีติดต่อกัน

South Korea: mixed signal

ในเดือน เม.ย. 59 มูลค่าการส่งออก (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -14.9 ส่งผลให้ดุลการค้า (ตัวเลขปรับปรุง) เกินดุล 8.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

United Kingdom: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคหดตัวในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และการขนส่ง ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้วจะหดตัวร้อยละ -1.3 หดตัวเป็นเดือนที่สอง จากยอดขายในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยมีเพียงยอดขายน้ามันเชื้อเพลิงเท่านั้นที่ขยายตัวจากเดือนก่อน อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 5.1 ต่อกำลังแรงงานรวม

Philippines: improving economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัว

Australia: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 5.72 ของกำลังแรงงานรวม โดยอัตราการมีส่วนร่าวมของแรงงานลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 64.9 ต่อวัยแรงงานรวม

Indonesia: worsening economic trend

ในเดือน เม.ย. 59 มูลค่าส่งออกหดตัวร้อยละ -12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 19 เดือน จากสินค้าทุกประเภทที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -14.6 หดตัวต่อเนื่อง 19 เดือนจากทุกประเภทสินค้าเช่นกัน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 667.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

India: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาอยู่ในระดับบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง เนื่องจากอาหารที่ราคาปรับสูงขึ้น

Singapore: worsening economic trend

ในเดือน เม.ย. 59 มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปเกือบทุกตลาดที่หดตัวต่อเนื่อง ยกเว้นสหราชอาณาจักร ฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ยังขยายตัวได้ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -12.0 จากราคาสินแร่และเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 6.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงใกล้ 1,400 จุด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 18 พ.ค. 59 ปิดที่ 1,400.50 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ที่ 48,092 ล้านบาท โดยเป็นแรงซื้อของนักลงทุนสถาบัน บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ นำโดยหลักทรัพย์ในกลุ่มสื่อสารและพลังงาน หลังจากมีความชัดเจนในการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เหลือผู้ประมูลเพียงบริษัทเดียว ประกอบกับราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยนักลงทุนต่างจับตามองรายงานการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 26-27 เม.ย. 59 ที่จะเผยแพร่ในคืนวันที่ 18 พ.ค. 59 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 18 พ.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 830.1 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น โดยในตลาดเริ่มมีการคาดการณ์ถึง Supply ใหม่ในพันธบัตรรัฐบาลสำหรับการทำ Bond Switching รวมถึงการซื้อขายตราสารหนี้ค่อนข้างนิ่งติดต่อกันมานานและคาดว่า Yield จะไม่ลดต่ำกว่าปัจจุบัน จึงมีการขายทำกำไรออกมา ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 18 พ.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 941.5 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 18 พ.ค. 59 เงินบาทปิดที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 1.05 จากสัปดาห์ก่อน โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินเยน ยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่ริงกิตมาเลเซียและวอนเกาหลีแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่อ่อนค่าลงมากก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลอื่น ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.76 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ