รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 30, 2016 11:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Summary:

1. ม. รังสิต ชี้การลงทุนฟื้นตัว ท่องเที่ยวคึกคัก แต่เกษตรยังซึม

2. นโยบายรัฐหนุนอสังหาฯศุภาลัยผุดคอนโดใหม่

3. หนี้เสียจีนเพิ่มขึ้น ไตรมาสแรกปี 59

1. ม. รังสิต ชี้การลงทุนฟื้นตัว ท่องเที่ยวคึกคัก แต่เกษตรยังซึม
  • ผศ.ดร.อนุสรณ์ธรรมใจรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิตได้ประเมินผลงาน2 ปีเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหารว่าภาคการลงทุนในส่วนของการลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการหดตัวที่ร้อยละ-7.3 ในปี57 แต่คาดว่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ12-13 ในปีนี้ ส่วนภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวร้อยละ-6.5 ในปี57 มาเติบโตเป็นบวกที่ร้อยละ 20 ในปี 58 และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อาจแตะระดับ33 ล้านคน(ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ10.4) ทำรายได้ 1.685 ล้านล้านบาท (ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6) ด้านภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงทั้งมูลค่าและผลผลิตโดยไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบร้อยละ -1.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 59 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 3.6) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากภาคท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะขยายตัวที่ร้อยละ 13.0 ซึ่งข้อมูลล่าสุดในเดือน เม.ย. 59 จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.8 และการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.6 ถึง 9.2) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง โครงการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาระบบขนส่งทางถนน และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรยังหดตัวจากปัญหาภัยแล้ง แต่คาดว่าจะเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก
2. นโยบายรัฐหนุนอสังหาฯศุภาลัยผุดคอนโดใหม่
  • ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย เปิดเผยว่าภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังปี 59 ยังเติบโตในทิศทางที่ดี โดยมีปัจจัยจากเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น โดยเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ขณะที่ดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น และสำหรับแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมา เชื่อว่าแนวโน้มยอดขายจะมีเพิ่มมากขึ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงปลายปี 58 จนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 59 นั้น ภาครัฐได้มีมาตรการส่งเสริมด้านอสังหาริมทรัพย์หลายมาตรการอาทิ การลดค่าโอนและค่าธรรมเนียม การให้สินเชื่อผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวมถึงนโยบายด้านภาษีบ้านหลังแรก ซึ่งนโยบายดังกล่าว ได้ช่วยทำให้ภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจ ได้แก่ ภาคก่อสร้าง และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 11.2 และ 3.0 ตามลำดับ ขณะที่แนวโน้มของภาคอสังหาฯ ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับภาครัฐยังคงมีมาตรการบ้านประชารัฐที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้
3. หนี้เสียจีนเพิ่มขึ้น ไตรมาสแรกปี 59
  • นายเกา ลิเกน รองประธานคณะกรรมการกำกับกิจการธนาคารจีน (CBRC) เปิดเผยว่า ภาคธนาคารของจีนมียอดหนี้เสียเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรก เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถควบคุมความเสี่ยงได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาเกิดจากการที่เศรษฐกิจของประเทศจีนชะลอตัว ส่งผลให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของประเทศจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ดี หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของประเทศจีนนั้นยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทั่วโลก อีกทั้งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของประเทศจีนโดยมากจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่ไม่มีศักยภาพ และแทบไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของประเทศจีน โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศจีนนั้นสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างดีในไตรมาสแรกปี 59 โดยไม่มีปัญหาทางด้านการเงิน ซึ่งส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนไว้ที่ ร้อยละ 6.6 ( คาดการณ์ ณ เม.ย. 59 )

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ