Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2559
Summary:
1. สภาพัฒน์เผยอัตราว่างงานไตรมาส 1 อยู่ที่ร้อยละ 0.97
2. คลังพับมาตรการกระตุ้นอสังหา มองดอกเบี้ยต่ำแล้ว
3. ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นเดือน เม.ย. ลดลงหลังราคาเชื้อเพลิงร่วง
1. สภาพัฒน์เผยอัตราว่างงานไตรมาส 1 อยู่ที่ร้อยละ 0.97
- นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยแรงงานภาวะสังคมไตรมาสแรกของปี 59 พบว่า สังคมไทยยังคงขยายตัวในเชิงบวก ทั้งด้านการจ้างงานโดยรวม และผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยการจ้างงานภาคเกษตร ในไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 2.7 ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในขณะที่ผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 369,893 คน หรือเท่ากับร้อยละ 0.97
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานของเดือน เม.ย.59 อยู่ที่ร้อยละ 1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 3.96 แสนคน ขยายตัวร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนสภาวะการจ้างงานโดยรวมในเดือน เม.ย. 59 หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวนแรงงานรวม 37.2 ล้านคน โดยภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานลดลงอยู่ที่ 9.86 ล้านคน หดตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ -7.1 เนื่องจากประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาภัยแล้ง จึงยังไม่มีการเพาะปลูกพืชที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะข้าวเปลือก และปาล์มน้ำมัน ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 27.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อพิจารณาแบ่งออกเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมของเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ 9.83 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยเฉพาะในสาขาการก่อสร้าง การผลิตไฟฟ้า และการจัดหาน้ำ เนื่องจากในช่วงเดือน เม.ย. เป็นช่วงฤดูร้อน ทำให้มีอุปสงค์ต่อไฟฟ้า และน้ำประปาเป็นจำนวนมาก จึงต้องการแรงงานในสาขาเหล่านี้เพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานในภาคบริการอยู่ที่ 17.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยเฉพาะสาขาการขนส่ง สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขายส่ง ขายปลีก เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้ประชาชนต่างพากันเดินทาง และท่องเที่ยวยังต่างจังหวัดมากขึ้น ทำให้ความต้องการจ้างแรงงานในส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
2. คลังพับมาตรการกระตุ้นอสังหา มองดอกเบี้ยต่ำแล้ว
- รมช.การคลัง กล่าวว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 5 โดยหลังจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐจบลง คาดว่าภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้ ทำให้ภาคอสังหาฯ ขยายตัวต่อเนื่อง จึงยังไม่จำเป็นจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยบวกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.50 และราคาวัสดุก่อสร้างที่ลดลงประมาณร้อยละ 4.5 รวมทั้งได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนภาครัฐ อาทิ การลงทุนรถไฟฟ้า 13 สาย และการลงทุนรถไฟฟ้าในระดับภูมิภาค
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐหลายมาตรการ อาทิ การลดค่าโอนและค่าธรรมเนียม การให้สินเชื่อ และนโยบายด้านภาษีสำหรับบ้านหลังแรก จึงทำให้เศรษฐกิจภาคอสังหาฯ สามารถขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 3.0 ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการบ้านประชารัฐที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยภาคอสังหาฯ เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี รวมไปถึงมาตรการด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะระบบราง และถนน ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งจะสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 (ประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 59)
3. ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นเดือน เม.ย. ลดลงหลังราคาเชื้อเพลิงร่วง
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. ลดลงร้อยละ 0.8 หลังจากที่ได้มีการปรับประมาณการลงที่ร้อยละ 1 จากเดือนที่แล้ว โดยยอดค้าปลีกในเดือน เม.ย. อยู่ในระดับที่ทรงตัวหลังจากที่มีการปรับตามฤดูกาล
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดค้าปลีกปรับตัวลดลง เป็นผลจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงและยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอ่อนตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายจากความกังวลที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะปรับขึ้นภาษีอุปโภคบริโภค และสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.3 และหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากดัชนีราคาสินค้าที่มิใช่อาหารที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าเชื้อเพลิง ขณะที่ GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) ไม่ขยายตัว (ร้อยละ 0.0 ต่อปี) หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จาก ไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q_SA) จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 59 จะขยายตัวได้ร้อยละ 0.8 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257