Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2559
1. พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.46 Core CPI ขยายตัวที่ร้อยละ 0.78
2. โตโยต้า เผยยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศประจำเดือน เม.ย. 59
3. จีนเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน พ.ค. 59 ทรงตัวที่ระดับ 50.1
- กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ 107.02 ขยายตัวร้อยละ 0.46 ต่อปี และ ขยายตัวร้อยละ 0.56 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนของปี 59 CPI หดตัวร้อยละ 0.19 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือน พค. อยู่ที่ระดับ 106.58 ขยายตัวร้อยละ 0.78 yoy
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้รับปัจจัยจาก (1) ดัชนีราคาสินค้าในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.18 m-om_SA ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (2) ดัชนีราคาสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.65 m-om_SA และ (3) ดัชนีราคาสินค้าในหมวดผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.83 m-om_SA เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 59 (ม.ค.- พ.ค.) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบที่ร้อยละ -0.19 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.71 ทั้งนี้ ในปี 59 สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59)
- รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนเม.ย.59 ว่า มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศมีทั้งสิ้น 54,986 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง ร้อยละ -11.9 ต่อปี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในส่วนของยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวจาก (1) ความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่ที่ได้แนะนำสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา (2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในประเทศ (3) กิจกรรมส่งเสริมการขายและการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ในช่วงงาน Bangkok International Motor Show 2016 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มี.ค. 59 - 3 เม.ย. 59 และ (4) สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำบรรเทาลงภายหลังราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของคนในประเทศเริ่มกลับมา ส่งผลให้ยอดขายรถกระบะเพิ่มขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งภายในประเทศยังคงหดตัวสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนเม.ย. 59 ที่ปรับตัวลดลง สะท้อนว่า ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายยังคงชะลอตัว
- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน อยู่ที่ระดับ 50.1 ในเดือน พ.ค. 59 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับของเดือน เม.ย. 59 แบ่งเป็น ดัชนี PMI การผลิตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอยู่ที่ระดับ 50.8 และดัชนี PMI การผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 51.5 ส่วนดัชนียอดสั่งซื้อใหม่ในภาคการผลิต อยู่ที่ 50.7 ขยับลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนที่ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 50.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภค ขณะที่การผลิตด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ยังอยู่ระดับสูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว โดยภาคการผลิตเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน ซึ่งกิจกรรมด้านการผลิตจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดเศรษฐกิจของจีน Q1/59 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ในตลาด และสอดคล้องกรอบคาดการณ์ของทางการจีนอยู่ที่ระหว่าง 6.5-7.0 ต่อปี โดยการบริโภคภาคบริการและภาคไฮเทคถือเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนไว้ที่ร้อยละ 6.6 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257