รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2016 13:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2559

Summary:

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ตลาดไทยเที่ยวไทยปี 59 ขยายตัวร้อยละ 6.5

2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนีเศรษฐกิจครัวเรือนเดือน พ.ค. 59 ทรงตัว

3. ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 59 เหลือร้อยละ 2.4 ต่อปี

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ตลาดไทยเที่ยวไทยปี 59 ขยายตัวร้อยละ 6.5
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยภาพรวมในปี 59 จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวน 146.5 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ต่อปี และอาจจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทยมูลค่า 8.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลล่าสุด 4 เดือนแรกในปี 59 มีจำนวนมีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 52.3 ล้าน-คนครั้ง สร้างรายได้ 1.76 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี และมีผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศ 29.9 ล้าน-คนครั้ง สร้างรายได้ 4.01 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี ตลาดไทยเที่ยวไทยปี 59 ที่ขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 59 เช่น มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ประกอบกับโครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด PLUS ที่เพิ่มเป็น 24 เมือง ซึ่งช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกระจายรายได้ไปยังหลายพื้นที่ ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งเป้าหมายปี 59 ว่าจะมีรายได้เข้าประเทศไทยมูลค่ารวม 2.3 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ต่อปี แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 8 แสนล้านบาท
2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนีเศรษฐกิจครัวเรือนเดือน พ.ค. 59 ทรงตัว
  • บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน(KR-ECI) ในเดือน พ.ค.59 ยังคงทรงตัวที่ระดับ 42.7 แม้ว่าความกังวลในเรื่องภาวะภัยแล้งที่ส่งผลต่อรายได้และราคาอาหารจะลดลง รวมถึงมุมมองต่อการจ้างงานและรายได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีเศรษฐกิจครัวเรือนในเดือน พ.ค. 59 ที่ยังคงทรงตัว บ่งชี้ให้เห็นถึงความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากครัวเรือนมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเร่งตัวขึ้นนับตั้งแต่เดือน มี.ค.59 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาพลังงานในประเทศสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเร่งขึ้น สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกในเดือน เม.ย. และ พ.ค. 59 ที่ร้อยละ 0.1 และ 0.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่อการจ้างงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความกังวลในเรื่องภาวะภัยแล้งที่ลดลง ซึ่งจะลดความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องรายได้และราคาสินค้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมีทิศทางเป็นบวกมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 2.1 ช่วงคาดการณ์ที่ 1.8 ถึง 2.4 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59)
3. ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 59 เหลือร้อยละ 2.4 ต่อปี
  • ธนาคารโลกเปิดเผยในรายงาน "Global Economic Prospects" ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกปี 59 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ม.ค. 59 เนื่องจากการค้าและการลงทุนที่ยังคงชะลอตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกจากที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.9 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนม.ค. 59) เหลือร้อยละ 2.4 ต่อปี เนื่องจากภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังคงชะลอตัว โดยธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี ลดลงจากค่าคาดการณ์ ณ ม.ค. 59 ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี ลดลงจากค่าคาดการณ์ ณ ม.ค. 59 ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯปี 59 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจญึ่ปุ่นจะ ขยายตัวได้ร้อยละ 0.8 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนเพื่อการบูรณะ ความเสียหายจากแผ่นดินไหวในช่วงเดือนเม.ย. 59 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ