Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2559
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 59 ลดลงอยู่ที่ระดับ 61.1 จุด
2. อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน พ.ค. 59 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0
3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แตะระดับต่ำเป็นประวัติการณ์
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 61.1 ปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 61.5 ในเดือนก่อน และเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่ ต.ค. 58 จากปัจจัยลบด้านภาคการส่งออกที่กลับมาหดตัว ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เพิ่มขึ้น และความกังวลด้านความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตร ขณะที่ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะนี้ ได้แก่ 1) ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 59 ของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่ยังคงมองว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน 2) ราคายางพาราที่กลับมาปรับตัวดีขึ้น และ 3) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง สะท้อนมุมมองของผู้บริโภคที่ยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 59 ด้านการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เดือน เม.ย. - พ.ค. 59 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งซึ่งมีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 โดยเร่งตัวขึ้นจากปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59)
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจากเดือนก่อนที่ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าผลสำรวจของ Reuters ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจีนที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหาร ยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของตะกร้าการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ที่ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 7.4 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงจะช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ โดยปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ ร้อยละ 4.35 ต่อปี และอัตราส่วนดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องหรืออัตราเงินสดสำรอง (Reserve Requirement Ratio: RRR) อยู่ที่ร้อยละ 16.5 โดยในปี 59 นี้ PBOC ได้ปรับลดอัตรา RRR ลงไปแล้ว 1 ครั้งในเดือน มี.ค. 59
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 59 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งนับเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ และเป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 5 ตั้งแต่ปลายปี 57
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เป็นการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 59 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้อยู่ในภาวะที่มีแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับต่ำ กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จึงทำให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ยังเป็นการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและต่อเรือ ซึ่งเผชิญกับอุปทานในตลาดโลกที่ลดลงตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ซบเซาทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือลดลง ส่งผลให้เริ่มมีการเลิกจ้างงานในภาคส่วนนี้ สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่เริ่มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยในเดือน ก.พ. 59 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงานรวม สูงสุดในรอบ 6 ปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257