รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 13:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2559

Summary:

1. พาณิชย์หนุนบุกตลาด CLMV ระบุ 4 เดือนแรกยอดการค้าพุ่ง 353,314 ล้านบาท

2. อิหร่านเซ็นสัญญาขายน้ำมันดิบให้ 7 บริษัทในยุโรป

3. สิงคโปร์เตือนอังกฤษ อาจทรุดหนักหากออกจากอียู

1. พาณิชย์หนุนบุกตลาด CLMV ระบุ 4 เดือนแรกยอดการค้าพุ่ง 353,314 ล้านบาท
  • นางอภิรดีตันตราภรณ์รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชาสปป.ลาวเมียนมาเวียดนาม)ในช่วง4 เดือนแรกปี 59 ว่ามีมูลค่าการค้าสูงถึง 353,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.73 จากปี 58 โดยกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการแสวงหาโอกาสทางการค้ากับ CLMV ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้านรุ่นที่2 (Yen-D Program Season 2) รวมถึงการจัดคณะภาครัฐและเอกชนไทยเดินทางเยือน CLMV เพื่อแสวงหาโอกาสการค้าและการลงทุนใหม่ๆ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กลุ่มประเทศ CLMV ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็นอย่างมากในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และ ยูโรโซน (โดยในปี 58 มีสัดส่วนที่ร้อยละ 11.2 11.1 9.34 และ 9.3 ตามลำดับ) ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง แต่การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 59 ในรูปเงินบาทอยู่ที่ 241,806.4 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 โดยประเทศที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุด ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ตามลำดับ ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการแสวงหาโอกาสทางการค้ากับกลุ่มประเทศ CLMV อย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นโอกาสให้ไทยขยายการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV ให้เพิ่มขึ้นได้ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในคุณภาพของสินค้าไทยในกลุ่มประเทศ CLMV ทำให้โอกาสของสินค้าและธุรกิจบริการของไทยเปิดกว้างอย่างมากในตลาด CLMV
2. อิหร่านเซ็นสัญญาขายน้ำมันดิบให้ 7 บริษัทในยุโรป
  • โมห์เซน ชามซารี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกิจการต่างประเทศของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC) เปิดเผยว่า ณ ขณะนี้ ทางบริษัทได้ลงนามในข้อตกลงขายน้ำมันเกือบ 7 แสนล้านบาร์เรล/วัน กับบริษัทของยุโรป และได้เริ่มมีการส่งออกน้ำมันให้กับบริษัทเหล่านี้แล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่อิหร่านได้รับการยกเลิกการถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีท่าทีจะลดกำลังการผลิตตามแนวโน้มของกลุ่มโอเปก ซึ่งการกลับมาในตลาดน้ำมันของอิหร่านจะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เนื่องจากอิหร่านต้องการส่งออกน้ำมันให้ได้ปริมาณเท่ากับก่อนการถูกมาตรการคว่ำบาตร ทั้งนี้พบว่าล่าสุด การส่งออกน้ำมันของอิหร่านเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน จากราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงที่อิหร่านยังถูกคว่ำบาตร และมีแผนที่จะส่งออกน้ำมันให้ได้ทั้งสิ้น 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงหลังจากได้ทำข้อตกลงกับบริษัทในยุโรป 7 แห่งดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม สศค. ได้ทำการติดตามราคาน้ำมันดิบดูไบอย่างใกล้ชิด และประมาณการว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 59 จะอยู่ที่ 35.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ณ เม.ย 59) แต่จะทำการปรับสมมติฐานด้านราคาน้ำมันดิบดูไบอีกครั้งในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด
3. สิงคโปร์เตือนอังกฤษ อาจทรุดหนักหากออกจากอียู
  • นายลิม เฮง เกียง รัฐมนตรีการค้าสิงคโปร์ กล่าวในการประชุมธุรกิจเม็กซิโก-สิงคโปร์ที่กรุงเม็กซิโก ซิตีว่า เขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนกำลังจับตาทิศทางการลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ ที่ชาวอังกฤษจะออกมากำหนดอนาคตว่าจะให้ประเทศอยู่กับอียูต่อไปหรือไม่ เขาคิดว่าหากอังกฤษออกจากอียูอังกฤษจะได้รับผลกระทบในระยะยาว และไม่เป็นผลดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การทำประชามติในเรื่องของการออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า หากสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปแล้ว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในหลายๆ ด้าน อาทิ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนและเศรษฐกิจของ สหราชอาณาจักรเอง ไม่ว่าจะในเรื่องของการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของสหราชอาณาจักรซึ่งมีความเชื่อมโยงกับธนาคารกลางของสหภาพยุโรปในระดับสูง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหราชอาณาจักรใน ไตรมาสที่ 1 ของปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นการชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากการชะลอลงของการบริโภคภาคเอกชนและการลดลงของสินค้าคงคลัง นอกจากนี้ยอดค้าปลีกในเดือน เม.ย. 59 ยังหดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สอง อันเนื่องมาจากความกังวลของประชาชนภายในประเทศ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ