รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 22, 2016 13:17 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2559

Summary:

1. หอการค้าไทย มองเศรษฐกิจไทย ในปี 59 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.2 - 3.5

2. ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ค.59 อยู่ที่ 86.4 จาก 85.0 ในเม.ย.

3. ผลสำรวจเผยผู้บริโภคชาวจีนยังช็อปกระจายปี 59 แม้เศรษฐกิจชะลอตัว

1. หอการค้าไทย มองเศรษฐกิจไทย ในปี 59 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.2 - 3.5
  • ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.3 ส่งผลให้ในปี 59 จะขยายตัวได้ตามกรอบที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.2-3.5 โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าครึ่งปีหลังจะขยายตัวร้อยละ 2.6 และทั้งปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 0.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0-3.6) โดยมีปัจจัยบวกมาจาก (1) การขยายตัวของการท่องเที่ยว โดยในช่วง 5 เดือนแรกในปี 59 รายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยว (ที่รวมทั้งคนไทยและคนต่างชาติ) ขยายตัวที่ร้อยละ 13.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ (2) การลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้า โดยในช่วง 4 เดือนแรกในปี 59 มูลค่าการส่งออกสินค้า หดตัวที่ร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้คาดว่าการส่งออกในปี 59 จะอยู่ที่ร้อยละ -0.7 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ -1.0 ถึง -0.4) ประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 59 จับตา: มูลค่าการส่งออกสินค้าและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 และครึ่งหลัง ปี 59
2. ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ค.59 อยู่ที่ 86.4 จาก 85.0 ในเม.ย.
  • นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.59 อยู่ที่ 86.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 85.0 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ผลประกอบการ และนโยบายภาครัฐที่ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น เกิดจาก (1) ปัญหาภัยแล้งบรรเทาลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร (2) ในเดือน พ.ค. เป็นช่วงที่สถานศึกษาเปิดภาคเรียน ทำให้มีปริมาณยอดขายในสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพิ่มขึ้น และ (3) นโยบายภาครัฐ ที่สนับสนุนให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น อาหาร ยา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาพลังงานที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ หากพิจารณารายภูมิภาค พบว่าภูมิภาคที่พึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ คือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีค่าดัชนีฯปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ 93.7 และ 91.2 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 91.5 และ 89.7 ตามลำดับ จับตา: ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน มิ.ย. 59
3. ผลสำรวจเผยผู้บริโภคชาวจีนยังช็อปกระจายปี 59 แม้เศรษฐกิจชะลอตัว
  • ศูนย์ศึกษาความต้องการผู้บริโภคของบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) เปิดเผยการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคชาวจีนว่าจะยังคงจับจ่ายซื้อสินค้าต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวก็ตาม โดยผลการสำรวจ พบว่าผู้บริโภคชาวจีนประมาณร้อยละ 75 วางแผนใช้จ่ายเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นในปี 59 โดยมีปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ 1. การที่ผู้บริโภคมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น และ 2. การที่ผู้บริโภคเต็มใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น โดยจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางระดับสูง ครัวเรือนที่ร่ำรวย ผู้บริโภครุ่นเยาว์ และผู้ที่ทำงานในภาคบริการที่ได้รับค่าจ้างสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนถูกขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจจีน ในไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้นการที่ผู้บริโภคของจีนมีแนวโน้มจะบริโภคต่อเนื่องนั้น จะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 59 โดยเฉพาะการบริโภคในจีนที่จะค่อนข้างมีเสถียรภาพ สะท้อนจากยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ด้านการลงทุน ยังถือได้ขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะชะลอลง สะท้อนจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนไว้ที่ร้อยละ 6.6 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59) จับตา: อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ