Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2559
Summary:
1. ตลท. เกาะติดกรณี Brexit เชื่อว่าตลาดมีแผนรับมือ
2. เงินปอนด์กลับมาแข็งค่าขึ้นสู่ระดับแข็งค่าสูงสุดตั้งแต่สิ้นปี 58
3. แมคคินซีย์คาดผลกำไรแบงค์ทั่วเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มลดลง
1. ตลท. เกาะติดกรณี Brexit เชื่อว่าตลาดมีแผนรับมือ
- นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึง การลงประชามติกรณีสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ("Brexit") ว่า แม้ว่าจะมีข่าวกระแสสนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย แต่หากพิจารณาจากแนวโน้มของตลาดทุนสหรัฐฯ และยุโรปพบว่าสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรคงอยู่ในสหภาพยุโรปมากกว่าเล็กน้อย จึงจำเป็นต้องจับตาดูการลงประชามติ โดยอาจดูจากตลาดดาวน์โจนส์ฟิวเจอร์เป็นหลักได้ตั้งแต่คืนวันที่ 23 มิ.ย. 59 ว่าผลจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ คาดว่าหากผลการลงประชามติเห็นไปทาง Brexit อาจทำให้ตลาดตื่นตระหนกในช่วงแรก แต่เนื่องจากมีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ทำให้เชื่อว่าตลาดมีการเตรียมตัวแล้ว
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงประชามติกรณีสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 23 มิ.ย. 59 (ตามเวลาท้องถิ่น) นั้น เป็นเรื่องที่ตลาดการเงินทั่วโลกต่างติดตามอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สะท้อนจากความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามทิศทางโพล Brexit ที่ออกมาต่อเนื่องในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา โดยเมื่อโพลบ่งชี้ว่าฝั่งที่สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ("Bremain") ได้คะแนนเสียงมากกว่า ดัชนีฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และในทางกลับกัน เมื่อคะแนนเสียงฝั่ง Brexit มีมากกว่า ดัชนีฯ จะปรับลดลงมาก ซึ่งความผันผวนของตลาดการเงินนี้ สะท้อนจากดัชนีความผันผวนของดัชนี S&P500 (VIX Index) ซึ่งปรับตัวพุ่งสูงขึ้นมากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงวันที่ 20-23 มิ.ย. 59 ผันผวนในกรอบแคบเช่นกัน ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 45,114.61 ล้านบาท โดยดัชนีฯ ณ 23 มิ.ย. 59 ปิดที่ 1,436.40 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.82 จากวันก่อนหน้า และเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35.206 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ 0.02 จากสัปดาห์ก่อน
2. เงินปอนด์กลับมาแข็งค่าขึ้นสู่ระดับแข็งค่าสูงสุดตั้งแต่สิ้นปี 58
- เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 59 ก่อนหน้าการโหวตประชามติ Brexit ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.4844 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดตั้งแต่สิ้นปี 58
- สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านี้ ผลโพลสำรวจทิศทางการลงประชามติ Brexit ของสหราชอาณาจักรยังคงมีความไม่แน่นอน ได้ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ ผลโพลสำรวจทิศทางการลงประชามติได้เริ่มส่งสัญญาณว่าอาจมีแนวโน้ม Bremain มากขึ้น ได้คลายความกังวลของตลาดการเงิน โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการคาดการณ์และเผยแพร่ถึงผลลบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ตลอดจนเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลลบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินโลก ซึ่งการคาดการณ์ว่าสหราชอาณาจักรจะอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปได้ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าวันที่ 24 มิ.ย. 59 ค่าเงินปอนด์กลับมาอ่อนลงอีกครั้งหลังผลการนับคะแนนในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างสูสีและในบางช่วงด้านฝั่ง Brexit เริ่มมีคะแนนนำ ทั้งนี้ ผลสิ้นสุดจะทราบในช่วงบ่ายวันนี้
3. แมคคินซีย์คาดผลกำไรแบงค์ทั่วเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มลดลง
- บริษัทที่ปรึกษาแมคคินซีย์ แอนด์ โค เปิดเผยบทวิเคราะห์ธุรกิจธนาคาร 328 แห่งในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ว่าปัจจัยเสี่ยง 3 ประการหลัก คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว งบดุลที่ย่ำแย่ลง และการแข่งขันจากอุตสาหกรรมฟินเทค จะทำให้อัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และผลกำไรของธนาคารในเอเชียมีอัตราการเติบโตที่ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อนั้นลดลง ขณะที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แมคคินซีย์แนะนำว่า ภาคธนาคารควรหันไปจับกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพซึ่งได้แก่ กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้าหลักของธนาคาร กลุ่มชนชั้นกลาง และกลุ่มธุรกิจขนาดกลางจนถึงขนาดย่อม (SMEs)
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยช่วงไตรมาส 1 ปี 59 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.5 และ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่ หนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และการขาดทุนจากการด้อยค่า แม้จะมีอัตราการเติบโตในระดับสูง แต่เริ่มมีทิศทางที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้กำไรขาดทุนสุทธิของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ -12.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสัญญาณการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ล่าสุดในเดือน เม.ย. 59 ยังคงขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่ชะลอลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี จะช่วยสร้างอุปสงค์ต่อสินเชื่อธุรกิจได้ต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257