Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2559
1. อัตราเงินเฟ้อ มิ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 0.38 เป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 3 พาณิชย์ปรับเป้า ส.ค. นี้
2. กรมบัญชีกลาง จับมือ สทบ. ผลักดันโครงการประชารัฐ หวังยกระดับกองทุนหมู่บ้าน
3. ISM เผยภาคการผลิตสหรัฐในเดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 พุ่งสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง
- นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มิ.ย.59 เท่ากับ 107.05 สูงขึ้นร้อยละ 0.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นบวกต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 3 นับจากเดือน เม.ย. 59 แต่เฉลี่ยครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ยังลดลงร้อยละ 0.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. 59 สูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำ ไข่ ผลิตภัณฑ์นม น้ำอัดลม เป็นต้น โดยเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมีสาเหตุมาจากปัญหาภัยแล้งยังคงเป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือน พ.ค. 59 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ยังไม่น่าจะมีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงเนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารสดที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น กอปรกับราคาน้ำมันขายปลีกจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
- อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลางกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เพื่อจัดสรรเงินตามโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 35,000 ล้านบาท และมีความพร้อมที่จะได้รับการสนับสนุนเงินจากรัฐบาลในอนาคต เพื่อเป็นการยกระดับกองทุนหมู่บ้าน หรือชุมชนเมืองทุกแห่งให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า โครงการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐนั้น มีนโยบายส่งเสริมเงินทุนผ่านกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยมีวงเงินรวมถึง 35,000 ล้านบาท ซึ่งมีความประสงค์ให้ชาวบ้านได้นำเงินทุนไปลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของแต่ละชุมชน นับเป็นการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของแต่ละท้องถิ่นเพื่อรอการต่อยอดในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีผลดีต่อการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในปัจจุบันอีกด้วย โดยเฉพาะในด้านการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ ภาครัฐได้เริ่มมีการอนุมัติเงินบางส่วนให้กับกองทุนหมู่บ้านไปแล้ว ซึ่งถ้าหากเม็ดเงินสามารถลงสู่เศรษฐกิจได้ทั้งหมดในปีนี้ คาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 0.15 จากกรณีฐาน (ประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน เม.ย. ได้รวมผลของมาตรการนี้ไว้แล้ว โดยคาดว่าเศรษฐกิจปี 59 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.3)
- ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ภาคการผลิตของสหรัฐ มีการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนมิ.ย.ทั้งนี้ ดัชนีภาคการผลิตของ ISM อยู่ที่ระดับ ร้อยละ 53.2 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2015 และเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 51.3 ในเดือนพ.ค.การเพิ่มขึ้นของดัชนี ISM ได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ และการผลิตขณะที่การจ้างงานได้ฟื้นตัวขึ้น หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้านี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี และอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 50 นั้น สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตของสหรัฐฯ มีการขยายตัว ซึ่งภาคการผลิตของสหรัฐฯ เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยการขยายตัวนี้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ต้องจับตามองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยในปี 59 สศค. ได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไว้ที่ ร้อยละ 2.4 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257