รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 8, 2016 13:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2559

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 59 อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน

2. ธนาคารกลางจีนประกาศค่ากลางเงินหยวนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.06 จากวันก่อน

3. S&P อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของออสเตรเลียหากไม่ลดการขาดดุลการคลัง

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 59 อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 60.6 จุด ลดลงจากระดับ 61.1 จุดในเดือนก่อน ทั้งนี้ ดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน ส่วนหนึ่งจากความกังวลต่อผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยอย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนในโครงการภาครัฐที่เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น

สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง สะท้อนมุมมองของผู้บริโภคที่ยังคงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 59 ยังคงมีสัญญาณการขยายตัวได้ สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เดือน เม.ย. - พ.ค. 59 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งเครื่องชี้ฯ ด้านการลงทุนในเดือน เม.ย. - พ.ค. 59 ยังขยายตัวได้ดี บ่งชี้จากยอดจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20.9 และ 19.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลงจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

2. ธนาคารกลางจีนประกาศค่ากลางเงินหยวนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.06 จากวันก่อน

ธนาคารกลางจีนประกาศค่ากลางเงินหยวน ณ วันที่ 7 ก.ค. 59 อยู่ที่ 6.6820 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.06 จากวันก่อนหน้า หรืออยู่ที่ 6.6857 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ

สศค. วิเคราะห์ว่า ค่ากลางเงินหยวนวันที่ 7 ก.ค. 59 แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย หลังจากในวันก่อนหน้าอ่อนค่าลงร้อยละ 0.39 โดยเงินหยวนที่มีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้สร้างความกังวลให้กับตลาดมากนัก เนื่องจากธนาคารกลางจีนมีการสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการคำนวณและการประกาศค่ากลางเงินหยวนต่อสาธารณะมากขึ้น ต่างจากเมื่อครั้งปลายปี 58 และต้นปี 59 ที่การอ่อนค่าลงของเงินหยวนส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินรวมถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารกลางจีนจะแทรกแซงตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินหยวนและเข้มงวดกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ แม้ตลาดจะเริ่มเชื่อมั่นในนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางจีนมากขึ้น แต่การอ่อนค่าลงของเงินหยวนเป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นประเด็นเปราะบางและมีผลต่อตลาดสูง ทั้งนี้ ค่ากลางเงินหยวนอ่อนค่าลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับต้นปี 59 และอ่อนค่าร้อยละ 1.8 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

3. S&P อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของออสเตรเลียหากไม่ลดการขาดดุลการคลัง

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อ S&P ระบุว่ามีความเป็นไปได้ประมาณ 1 ใน 3 ที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของออสเตรเลียภายใน 2 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลออสเตรเลียยังไม่ดำเนินมาตรการการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ออสเตรเลียยังเผชิญกับการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่ลดลง จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ตกต่ำและราคาสินค้าและบริการที่ลดลง จึงทำให้คาดว่าปัญหาขาดดุลการคลังจะยังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง

สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าจะมีสัญญาณดังกล่าวจาก S&P แต่หากพิจารณาแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณของออสเตรเลียพบว่าปรับตัวดีขึ้น โดยในปี 58 ขาดดุลร้อยละ 2.4 ของ GDP ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่ขาดดุลร้อยละ 3.1 ของ GDP นอกจากนี้ ทางการออสเตรเลียมีแผนที่จะใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของภาครัฐเพิ่มขึ้นและลดการขาดดุลได้ในระยะปานกลาง ทั้งนี้ เศรษฐกิจออสเตรเลียในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ขยายตัวได้ดี โดย GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการบริโภคภาครัฐและภาคเอกชน และเครื่องชี้ฯ ในไตรมาสที่ 2 ยังคงบ่งชี้การขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดค้าปลีกและการส่งออกในเดือน เม.ย.-พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 2.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 59 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ซึ่งคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ออสเตรเลียจัดเก็บรายได้ภาครัฐมากขึ้น และบรรเทาปัญหาการขาดดุลการคลัง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ