รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 14, 2016 14:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2559

Summary:

1. ตลาดรถครึ่งปีหลัง เริ่มเห็นปัจจัยบวก

2. กสิกรไทยเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน มิ.ย.59 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

3. ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ร้อยละ 3

1. ตลาดรถครึ่งปีหลัง เริ่มเห็นปัจจัยบวก
  • ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดในครึ่งปีแรกมีแนวโน้มดีขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลาย กำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวขยายตัว รวมถึงการสิ้นสุดการถือครองรถยนต์คันแรก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยจากข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล และการสิ้นสุดการถือครองรถยนต์คันแรก นอกจากนี้ ยังคงมีปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค อาทิ สถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าเกษตรเริ่มเห็นสัญญาณ ฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนในโครงการภาครัฐที่เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์การบริโภคภาคเอกชนในปี 59 (ข้อมูล ณ เม.ย. 59) ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 โดยฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแนวโน้มการจ้างงานและรายได้ นอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2. กสิกรไทยเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน มิ.ย.59 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) และดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า ยังคงปรับตัวลดลงติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี 59 เป็นต้นมา โดยในเดือน มิ.ย.59 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 42.5 และ 43.3 ตามลำดับ สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนและดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้ามีสาเหตุมาจาก (1) ความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาอาหารบางประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้นจากผลของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า และราคาน้ำมันขายปลีกที่ขยับขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (2) ความกังวลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบไปถึงภาวะการจ้างการงานภายในประเทศ โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการส่งออก และ (3) ความกังวลต่อภาระหนี้สินและรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงภัยแล้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้า แม้ว่าขณะนี้ผลกระทบจากภาวะภัยแล้งจะบรรเทาลง แต่อาจไม่สามารถชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกระดับให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง และเร่งช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
3. ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ร้อยละ 3
  • ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 จากเดิม 3.25 สู่ระดับร้อยละ 3.00 ซึ่งตรงข้ามกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย โดยตลาดการเงินระหว่างประเทศอาจมีความผันผวนมากขึ้น และคาดว่านโยบายการเงินทั่วโลกจะยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลายอย่างมากต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางมาเลเซียครั้งนี้เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวมากขึ้นจากผลกระทบของการทำประชามติในสหราชอาณาจักรที่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งส่งผลให้ตลาดการเงินระหว่างประเทศอาจมีความผันผวนมากขึ้น ประกอบกับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของมาเลเซียเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ ร้อยละ 2.0 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค. 59 ติดลบร้อยละ -0.9 ต่อปี หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นตลาดคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยโดยมีสัดส่วนการส่งออกของไทยไปมาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ของตลาดส่งออก 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทยในปี 58 โดย สศค. คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59 ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ