รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 15, 2016 13:16 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2559

Summary:

1. ภาครัฐเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยผ่านยุทธศาตร์ 4 มิติ

2. เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 59 เหลือร้อยละ 2.7

1. ภาครัฐเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยผ่านยุทธศาสตร์ 4 มิติ
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2016 ว่า ไทยเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านยุทธศาสตร์ 4 มิติควบคู่กัน ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์การเมือง เป็นเกตเวย์ของอาเซียน 2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว พัฒนาโครงสร้างการผลิตให้สมดุลและลดความเหลื่อมล้ำ 3) ยุทธศาสตร์ความเป็นสถาบันตามหลักธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน และ 4) ยุทธศาสตร์ประชาสังคม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การดำเนินการขับเคลื่อนประเทศด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทั้ง 4 มิติควบคู่กัน จะเป็นการช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมของไทยให้พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง โดยจากการจัดอันดับล่าสุด เมื่อเดือน พ.ค. 59 Institute for Management Development (IMD) ได้เผยแพร่รายงาน World Competitiveness Yearbook 2016 และจัดอันดับให้ไทยอยู่ที่อันดับ 28 จาก 61 เขตเศรษฐกิจ โดยปรับขึ้น 2 อันดับจากที่ 30 ในปีก่อน โดยในรายละเอียดพบว่า หมวดประสิทธิภาพภาครัฐได้อันดับที่ดีขึ้น ในขณะที่หมวดสมรรถนะทางเศรษฐกิจอันดับคงที่ ในขณะที่หมวดประสิทธิภาพภาคธุรกิจและหมวดโครงสร้างพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย
2. เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากการขยายตัวในภาคบริการ ภาคการผลิต และภาคการก่อสร้างที่ร้อยละ 1.7 0.8 และ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวเร่งขึ้นได้เล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า มีปัจจัยสนับสนุนมาจากสาขาการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้ ในขณะที่สาขาก่อสร้างและสาขาบริการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้ภาคการส่งออกหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผลสำรวจการคาดการณ์เศรษฐกิจสิงคโปร์ที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้เผยแพร่ในเดือน มิ.ย. 59 ชี้ว่าตลาดคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจสิงคโปร์จะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ซึ่งเป็นคาดการณ์ที่ลดลงจากผลสำรวจในเดือน มี.ค. 59 ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 โดยคาดว่าปัจจัยการชะลอตัวที่สำคัญจะเกิดจากภาคการเงินและภาคการค้าส่งและค้าปลีกที่จะชะลอตัวลงมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ ลดลงจากการคาดการณ์ในเดือน มี.ค. 59 ที่ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59)
3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 59 เหลือร้อยละ 2.7
  • นายลี จู-ยอล ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 59 ว่าได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ปี 59 จากร้อยละ 2.8 ต่อปี ลงเหลือร้อยละ 2.7 ต่อปี โดยยังคงขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน และปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 59 จากเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สาเหตุสำคัญของการปรับลดคาดการณ์ดังกล่าวคือ อุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ BOK ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของเกาหลีใต้ซึ่งถือเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบเปิด โดยมีอัตราการเปิดประเทศที่ร้อยละ 105.2 ของขนาดเศรษฐกิจในปี 58 โดยเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญของเกาหลีใต้ที่มีสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ (ตลาดส่งออกอันดับที่ 1 และ 2 ของเกาหลีใต้มีสัดส่วนร้อยละ 26.0 และร้อยละ 13.3 ของมูลค่าส่งออกรวมปี 58 ตามลำดับ) โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 59 การส่งออกเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ -10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวร้อยละ 2.7 ในปี 59 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ