Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2559
Summary:
1. ททท. เชื่อครึ่งปีหลังต่างชาติแห่เที่ยวไทย
2. รมว.พาณิชย์ เตรียมปรับลดขั้นตอนซ้ำซ้อนส่งออกสินค้ายุทธศาสตร์ นำร่องโดยข้าว
3. รัฐบาลญี่ปุ่นคงการประเมินภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
1. ททท. เชื่อครึ่งปีหลังต่างชาติแห่เที่ยวไทย
- นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวช่วงครึ่งหลังของปี 59 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 17.44 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้คิดเป็นเงิน 8.97 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยในช่วงครึ่งปีหลัง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดจีน ตลาดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ตลาดฮ่องกง และญี่ปุ่นเดินทางมาเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเดินทางระยะใกล้ เนื่องจากยังกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน รวมไปถึง ก็เกิดความกังวลเรื่องการก่อการร้ายในหลายพื้นที่ ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยได้รับกลายเป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในครึ่งแรกของปี 59 อยู่ที่ 16.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ การเปิดขยายเส้นทางการบินใหม่ของประเทศในละแวกใกล้เคียง กอปรกับความกังวลเรื่องภัยก่อการร้ายในยุโรป รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้นักท่องเที่ยวในเอเชียนิยมเดินทางท่องเที่ยวในระยะใกล้มากขึ้น ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย สำหรับในช่วง 20 วันแรกของเดือน ก.ค. 59 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 78 ของด่านทั้งหมดของประเทศไทย พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ร้อยละ 35.4 และร้อยละ 20.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า ตลอดทั้งปี 59 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 33.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 59)
2. รมว.พาณิชย์ เตรียมปรับลดขั้นตอนซ้ำซ้อนส่งออกสินค้ายุทธศาสตร์ นำร่องโดยข้าว
- รมว.พาณิชย์ ขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ลดขั้นตอนส่งออกสินค้ายุทธศาสตร์ ประเดิมนำร่องจากสินค้าข้าว โดยเตรียมหั่นขั้นตอนที่เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบลงได้ถึงร้อยละ 83
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์จะทำการลดขั้นตอนการส่งออกที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและระเบียบลงนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนดังกล่าวได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นการส่งออกข้าวจากเดิมที่มีขั้นตอนการส่งออกถึง 14 ขั้นตอน แต่หลังจากการปรับลดขั้นตอนและกฎระเบียบต่างๆแล้ว จะทำให้การส่งออกข้าวนั้นสามารถลดขั้นตอนมาเหลือเพียง 4 ขั้นตอนเท่านั้น ซึ่งหากสามารถดำเนินการลดขั้นตอนและกฎระเบียบต่างๆได้ในสินค้าที่ส่งออกก็จะส่งผลให้ ผู้ประกอบการการส่งออกลดต้นทุนและเวลาในขั้นตอนการส่งออกในส่วนนี้ได้ อย่างมาก และจากการที่สามารถลดต้นทุนและเวลาในการส่งออกสินค้านี้ จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศได้ โดย สศค. ได้ประมาณการมูลค่าการส่งออกทั้งปี 59 ของไทยไว้ที่ ร้อยละ -0.7 (ประมาณการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59 )
3. รัฐบาลญี่ปุ่นคงการประเมินภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
- รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศคงระดับการประเมินภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยระบุว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวในระดับปานกลาง แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง เมื่อพิจารณาจากภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลญี่ปุ่นคงการประเมินภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้นในระดับปานกลาง เป็นผลจากการใช้จ่ายผู้บริโภคยังคงอ่อนแอ ในขณะที่ภาวะด้านรายได้และการจ้างงานกำลังฟื้นตัว ซึ่งเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นนั้น มีแนวโน้มที่จะทำให้ผลกำไรของกลุ่มบริษัทส่งออกปรับตัวลดลง โดยบริษัทเอกชนมีมุมมองต่อภาวะทางธุรกิจในลักษณะยังคงใช้ความระมัดระวัง นอกจากนี้ผลกระทบของการทำประชามติในสหราชอาณาจักรที่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะทำให้ภาคเอกชนเลื่อน การลงทุนในอังกฤษ ซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับแนวโน้มในระยะยาวของบริษัทเอกชน ดังนั้น ในภาพรวม ยังเป็นที่คาดการณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นน่าจะมีมาตรการในการอัดฉีดเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้นโยบายการคลัง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 (คาดการณ์ เดือน เม.ย. 59)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257