Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2559
Summary:
1. โตโยต้า ปรับลดยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศปี 59 ลดลงร้อยละ 7.5
2. เกาหลีใต้เผย GDP Q2/59 โต ร้อยละ 0.7 จากอานิสงส์การบริโภค-การก่อสร้าง
3. รัฐบาลอินโดนีเซียคาด GDP ขยายตัวร้อยละ 5.3 ในปี 59
1. โตโยต้า ปรับลดยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศปี 59 ลดลงร้อยละ 7.5
- นายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คาดแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ จะมียอดขายรวมทั้งหมดที่ 740,000 คัน ลดลงร้อยละ 7.5 หลังครึ่งแรกของปี 59 มียอดขายรวม 367,481 คัน ลดลงร้อยละ 0.4 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะชะลอตัว ประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มของยอดขายรถในช่วงครึ่งปีหลังปี 59 จะยังคงขยายตัวได้ดี อันเนื่องมาจากปัจจัยบวก อาทิเช่น รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 2.2 และการบริโภคภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นอีกทั้ง อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อาทิเช่น มาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย ซึ่งเป็นเม็ดเงินเสริมหมุนเวียนในภูมิภาคที่ช่วยสนับสนุนการบริโภคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ข้อมูลจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในช่วงครึ่งปีแรก 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยังสะท้อนให้เห็นถึงการบริโภคภาคสินค้าคงทนในหมวดรถยนต์ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนของไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 คาดการณ์ ณ เดือน เมษายน 2559 จับตา: ยอดขายรถยนต์ครึ่งปีหลังปี 59
2. เกาหลีใต้เผย GDP Q2/59 โต ร้อยละ 0.7 จากอานิสงส์การบริโภค-การก่อสร้าง
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเกาหลีใต้ในไตรมาส 2 ปี 2559 ขยายตัว ร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ0.5 โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการก่อสร้างที่ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ตลอดทั้งปีลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.7
- สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.2 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายมาตรการลดภาษีชั่วคราวสำหรับการซื้อรถยนต์ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 59 และ (2) การลงทุนโดยรวม ที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้างที่ได้รับอานิสงค์จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 (ประมาณการ ณ เดือน เม.ย.59) จับตา: GDP ของเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งปีหลัง 59
3. รัฐบาลอินโดนีเซียคาด GDP ขยายตัวร้อยละ 5.3 ในปี 59
- ดาร์มิน อาซูชัน รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินโดนีเซียปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 5.3 เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากงบประมาณรายจ่ายเพื่อการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น และจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก
- สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปี 59 มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสะท้อนมาจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 59 ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 113.7 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 122.1 รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่ในระดับ 51.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 เดือน ส่งผลให้เกิดการจ้างงานใหม่ ประกอบกับการภาคการส่งออกมีการหดตัวในอัตราชะลอลง เป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 59 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนเมษายน 2559) จับตา: GDP ของอินโดนีเซียในช่วงครึ่งปีหลัง
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257