Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2559
Summary:
1. ประชามติฉลุยดึงเชื่อมั่นลงทุนฟื้น
2. แรงงานฝีมือได้เฮ กระทรวงปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ มีผล 10 สิงหาฯ นี้
3. แบงก์ชาติจีนส่งสัญญาณมุ่งเสริมสภาพคล่อง เมินลดดอกเบี้ย-RRR
1. ประชามติฉลุยดึงเชื่อมั่นลงทุนฟื้น
- นายวิรไทสันติประภพผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าการที่ประชาชนส่วนใหญ่มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะต่อไปเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองหมดลงเพราะจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไวและจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการลงทุนเพราะนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากผลการลงประชามติผลอย่างไม่เป็นทางการ (ซึ่งจะประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ส.ค. 59) พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีมติรับร่างรัฐธรรมและคำถามพ่วง ทำให้มความแน่นอนทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ส่งผลให้มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลจากการรับประชามติยังส่งผลให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการที่ดัชนีราคาหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลล่าสุดในวันที่ 9 ส.ค. 59) ซึ่งเป็นการแข็งค่าระยะสั้นจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การจับจ่าย ใช้สอย การลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นจะฟื้นตัวโดดเด่นเพิ่มมากขึ้น
2. แรงงานฝีมือได้เฮ กระทรวงปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ มีผล 10 สิงหาฯ นี้
- พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้มีการออกประกาศการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือขึ้นใหม่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แรงงานฝีมือทำงานและพัฒนาจนนำไปสู่การผลิตสินค้าและบริการให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าว จะมีผลกับแรงงานฝีมือ 20 สาขาอาชีพ โดยมีการปรับค่าจ้างสูงสุดถึง 550 บาท และจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2559 นี้เป็นต้นไป หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามประกาศดังกล่าวจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 จึงทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีการจูงใจแรงงานด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดการพัฒนายกระดับทักษะของแรงงานให้กลายเป็นแรงงานที่มีฝีมือ โดยใน 20 สาขาอาชีพส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และกลุ่มยานยนต์ อยู่ที่ 480 บาทต่อวัน ขณะที่กลุ่มอัญมณี และกลุ่มโลจิสติกส์ อยู่ที่ 550 บาทต่อวัน โดยการปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานใหม่จะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 59 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้อมูลการจ้างงานในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่จำนวน 38.4 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ ร้อยละ 1.0
3. แบงก์ชาติจีนส่งสัญญาณมุ่งเสริมสภาพคล่อง เมินลดดอกเบี้ย-RRR
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ระบุถึงความเป็นไปได้ที่ว่า ทางธนาคารกลางอาจมีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีความใหม่มากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การเสริมสภาพคล่อง ได้แก่ โครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) เพื่อช่วยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเชิงนโยบายในการดูแลสภาพคล่อง โดยให้สถาบันการเงินเหล่านี้สามารถกู้ยืมจากธนาคารกลางได้โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่นเดียวกับโครงการเงินกู้ระยะสั้น (SLF) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนสภาพคล่องสำหรับสถาบันการเงินท้องถิ่น แทนที่มาตรการเดิมๆ ที่ปกติมักเลือกใช้ เช่น การปรับลดดอกเบี้ย และสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR)
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดดอกเบี้ยและ RRR อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ระบบการเงินมีสภาพคล่องมากเกินไป จนก่อให้เกิดการคาดการณ์ว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลง โดยการเสริมสภาพคล่องจะต้องใช้นโยบายการเงินอย่างระมัดระวังในช่วงครึ่งปีหลัง และดำเนินนโยบายที่มีความยืดหยุ่น พร้อมกับดำเนินการปรับเปลี่ยนเมื่อถึงเวลาสมควร ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือด้านนโยบายที่หลากหลายเพื่อรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอ ขณะที่ให้มีการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสม และปรับปรุงการปรับโครงสร้างทางการเงิน และลดต้นทุนการระดมทุนในตลาด นอกจากนี้ ยังควรจับตามองถึงประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายและคุณภาพของสินเชื่อซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินในภาพรวมได้ ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนไว้ที่ร้อยละ 6.6 (คาดการณ์ ณ ก.ค. 59)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257