รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 10, 2016 13:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2559

Summary:

1. ม.หอการค้า ปรับคาดการณ์ GDP ปี 59 โตร้อยละ 3.3 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 3.0

2. TMB มองแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่น SME ยังแผ่วจากศก.ชะลอ-กำลังซื้อหด

3. ธนาคารกลางอินเดียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 6.5

1. ม.หอการค้า ปรับคาดการณ์ GDP ปี 59 โตร้อยละ 3.3 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 3.0
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับประมาณการอัตราการยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เพิ่มเป็นโตร้อยละ 3.3 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3 เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นและภาครัฐเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มเป็นขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ของมหาวิทยาลัยหอการค้า สอดคล้องกับการประมาณการของ สศค. ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ดีตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล อีกทั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่เติบโตดี ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ตามรายได้และการจ้างงานในภาคบริการที่ขยายตัวดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกสินค้าภายในปีนี้จะยังคงเป็นข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จับตา: การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2559
2. TMB มองแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่น SME ยังแผ่วจากศก.ชะลอ-กำลังซื้อหด
  • นายเบญรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ไตรมาส 2/59 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 39.4 จากไตรมาส 1/59 ที่ 42.1 เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศยังคงกังวลกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังชะลอตัว โดยภาคเหนือตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง หดตัวลง ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออก ยังคงทรงตัว ในขณะที่ ดัชนีภาคใต้ปรับตัวดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ที่ปรับตัวลดลง สะท้อนความกังวลภาวะเศรษฐกิจไทย เนื่องจากภาคการส่งออกสินค้าที่ยังหดตัว ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับลดลง โดยรายได้เกษตรกรที่แท้จริง เดือน มิ.ย. 59 ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อโดยรวมของทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยบวกมาจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี ตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ผ่านการส่งเสริมธุรกิจ SMEs เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสาหรับผู้ประกอบการ SMEs และโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) จับตา: ดัชนีความเชื่อมั่น SME ในเดือนหน้า
3. ธนาคารกลางอินเดียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 6.5
  • ธนาคารกลางอินเดียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 6.5 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมิ.ย. หลังจากที่ราคาอาหารในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาภัยแล้งและราคาน้ำมัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารกลางอินเดียมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากต้องการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียที่ยังดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 59 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี จากร้อยละ 7.2 ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 นอกจากนี้ แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัว สะท้อนจากยอดขายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 6.7 และ 14.3 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ในช่วง 6 เดือนแรกอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (WPI) อยู่ที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี บ่งชี้ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจอินเดียอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตที่ร้อยละ 7.3(ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 59) จับตา: การขยายตัวของบริโภคภาคเอกชนของอินเดียในไตรมาส 3

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ