รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 16, 2016 10:57 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2559

Summary:

1. GDP ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 3.5

2. SCB EIC มอง GDP ครึ่งปีหลังฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ไม่ร้อนแรง

3. ญี่ปุ่นเผย GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2

1. GDP ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 3.5
  • นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสแรก และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วขยายตัวร้อยละ 0.8 (qoq-sa) ขณะที่ครึ่งแรกของปี 59 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 59 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวได้ดีของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3.8 โดยได้รับอานิสงค์จากรายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายลง ทำให้การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ ที่มีปริมาณการจำหน่ายขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุนก็เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะโครงการและมาตรการภาครัฐต่างๆ ที่ทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายรวมของรัฐบาล ทั้งจากการเบิกจ่ายงบประมาณ เบิกจ่ายเหลื่อมปี โครงการไทยเข้มแข็ง และโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและถนนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 18.3 อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก แต่ยังได้รับอานิสงค์จากการส่งออกบริการที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 12.1 จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน
2. SCB EIC มอง GDP ครึ่งปีหลังฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ไม่ร้อนแรง
  • SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวต่อเนื่องแต่อาจไม่ร้อนแรง การบริโภคภาคเอกชนยังคงมีปัจจัยบวกในครึ่งปีหลัง เพราะจะได้รับอานิสงส์จากการสิ้นสุดมาตรการรถคันแรก (หมดระยะ ถือครอง 5 ปี) ซึ่งทำให้มีกำลังซื้อบางส่วนกลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวอาจมีการชะลอการเติบโตลงในช่วงครึ่งปีหลังจากเม็ดเงินของมาตรการลงทุนขนาดเล็กที่เริ่มหมดลงประกอบกับปัจจัยฐานสูงของการลงทุนภาครัฐในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยอาจมีการชะลอตัวลงจากเหตุก่อความไม่สงบในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ภาคใต้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากประมาณการ ณ ก.ค. 59 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีภาคการส่งออกสินค้า และการลงทุนภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 59 อย่างไรก็ดี ภาคการคลังยังเป็นตัวสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ รวมถึงราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่มีการปรับตัวดีขึ้น กอปรกับมาตรการภาครัฐอีกหลายมาตรการที่มีการอัดฉีดเงินไปยังระดับหมู่บ้าน และตำบล ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยผ่านการบริโภคภาคเอกชนที่นับเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ในส่วนของเหตุการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับความไม่สงบในภาคใต้ อาจส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าตามที่คาดการณ์ ซึ่งทาง สศค. จะดำเนินการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
3. ญี่ปุ่นเผย GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวเพียง ร้อยละ 0.2 ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่มีการขยายตัว ร้อยละ 1.9 เนื่องจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนซบเซาลง รวมทั้งเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ชะลอตัว
  • สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาส 2 แม้ว่าจะสูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาส 2 เทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่ยอดการส่งออกหดตัวลงร้อยละ 1.5 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในต่างประเทศที่ซบเซาและผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยน ส่วนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นนั้น ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยน และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่จังหวัดคุมาโมโตะ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ในขณะที่การใช้จ่ายด้านทุนของภาคเอกชน ปรับตัวลงร้อยละ 0.4 ซึ่งหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาครัฐในไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการสาธารณะที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณเพิ่มเติมของรัฐบาลในปีงบประมาณที่ผ่านมา จึงคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นน่าจะพยายามเร่งการใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.6 (คาดการณ์ ณ ก.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ