รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 - 11 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 15, 2016 11:19 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 42.8 ของ GDP
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -3.9
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน มิ.ย. 59 คิดเป็น 1.68 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวทรงตัวจากไตรมาสแรกที่ร้อยละ 2.1
  • อัตราการว่างงานของสหรัฐฯยังคงทรงตัวที่ ร้อยละ 4.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ ร้อยละ 1.8
  • มูลค่าการส่งออกของสหราชอาณาจักร เดือน มิ.ย. 59 หดตัวร้อยละ -4.7
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 5.3

Indicator next week

Indicators Forecast Previous
Jul : TISI      87.6        85.3
  • เนื่องจากรัฐบาลได้เดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor Development) ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดือน ก.ค.ซึ่งส่งผลดีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมันของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
Economic Indicators: This Week

การจ้างงานเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ 38.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.9 แสนคน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมทีเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การปลูกข้าวเหนียว การปลูกปาล์มน้ำมัน และการปลูกกล้วย ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการมีการขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยเฉพาะสาขาการขายส่งขายปลีก สาขาที่พักแรมและร้านอาหาร และสาขากิจกรรมที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ สถานเสริมความงาม เป็นต้น ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ -4.6 โดยเฉพาะในสาขาการผลิต และสาขาการก่อสร้าง เนื่องจากมีแรงงานบางส่วนได้ย้ายกลับเข้ามาทำงานในภาคเกษตรมากขึ้น ทั้งนี้ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.9 แสนคน

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,924.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.8 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าหนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 53.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อGDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน (คิดเป็นร้อยละ 97.7 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ94.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้รอยละ -3.7

Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 59 คิดเป็น 1.68 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 3.8 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

Economic Indicator: Next Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 59 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 87.6 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.3 เนื่องจากรัฐบาลได้เดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor Development) ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดือน ก.ค.ซึ่งส่งผลดีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมันของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้น 255,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อน จากการจ้างงานภาคค้าส่งค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราการว่างงานยังคงทรงตัวที่ร้อยละ 4.9 ของกำลังแรงงานรวม ด้านรายได้ภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 877.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากค่าจ้างทุกภาคส่วนที่เพิ่มขึ้น ดุลการค้า เดือน มิ.ย. 59 ขาดดุล 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมาจากมูลค่าส่งออกที่หดตัวร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อน จากการส่งออกอาหารที่กลับมาขยายตัวและการส่งออกสินค้าเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมและสินค้าทุนที่หดตัวชะลอลง ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนจากการนำเข้าอาหารและรถยนต์ที่หดตัวเร่งขึ้น

China: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ -6.1 ในเดือนก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่หดตัวชะลอลงและการส่งออกไปอาเซียน เช่น ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ขยายตัวได้ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -12.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ -9.0 ในเดือนก่อน โดยการนำเข้าจากฮ่องกงยังขยายตัวสูงผิดปกติ ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 59 เกินดุล 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: improving economic trend

GDP ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวทรงตัวจากไตรมาสแรกที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศก่อนหน้านี้ โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.9 เป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

United Kingdom: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 59 หดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -70.8 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 15.3 พันล้านปอนด์ สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยที่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวสูงสุดในเดือน มิ.ย. 59 ที่ร้อยละ 3.2

Malaysia: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าประเภทไม้ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ รวมถึงสินค้าประเภทปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติก นอกจากนี้ ภาคเหมืองแร่และภาคการผลิตไฟฟ้าขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ร้อยละ 6.3 และ 8.7 ตามลำดับ อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม

Indonesia: improving economic trend

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอินโดนีเซียในเดือน ก.ค. 59 เป็นไปในทิศทางบวก โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 114.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน นอกจากนี้ ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Philippines: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 59 หดตัวร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวมากที่สุดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.4

India: mixed signal

วันที่ 8 ส.ค. 59 ธนาคารกลางอินเดียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 6.50 ต่อปี

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 59 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 59 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี

Taiwan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวครั้งแรกหลังจากหดตัว 17 เดือนต่อเนื่อง แต่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 59 ยังคงหดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ -10.0 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 59 เกินดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 1,550 จุด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 10 ส.ค. 59 ปิดที่ระดับ 1,548.13 จุด โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์สูงถึง 71,289 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทในสัปดาห์นี้ ตลอดจนเสียงส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติ ทำให้มีความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่ปรับสูงขึ้นมาก ส่งผลให้มีแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีฯ ไม่สามารถแตะระดับ 1,550 จุดได้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 10 ส.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิสูงถึง 15,673.9 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุมากกว่า 1 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-5 bps จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น Benchmark อายุ 10 ปีจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน 1.78 เท่าของวงเงินประมูลก็ตาม โดยระหว่างวันที่ 8 - 10 ส.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 2,264.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 10 ส.ค. 59 เงินบาทปิดที่ 34.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.10 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงิน ริงกิตมาเลเซียและวอนเกาหลี ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อย ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นใกล้เคียงกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัว โดยแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.07 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ