Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2559
1. สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.ค.59 หดตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
2. สรท. คาดยอดส่งออกข้าวปีนี้หลุดเป้า 9 ล้านตัน
3. ญี่ปุ่นเผยยอดค้าปลีกเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค.59 อยู่ที่ 103.36 หดตัวร้อยละ 5.1 จาก 108.91 ในเดือน ก.ค.58 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องยนต์ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่มิใช่ยางรถยนต์
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 59 ปรับตัวลดลง หลังจากขยายตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน โดยสาเหตุหลักมาจาก (1) ปริมาณการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับตัวลดลง ตามปริมาณการผลิตของรถกระบะที่ลดลง (2) ปริมาณผลผลิตผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก ปรับตัวลดลง เนื่องจากฝนที่ตกหนักบริเวณภาคใต้ส่งผลให้ปริมาณการผลิตยางพาราลดลง และ (3) เนื่องจากในเดือน ก.ค. 59 มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ทำให้การผลิตต้องหยุดชะงักลงไป อย่างไรก็ดี ผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 7 เดือนแรก ปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายลง และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนปี 59 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค.59) จับตา: ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 59
- นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในปี 59 ต้องจับตาสินค้าภาคเกษตรที่มีมูลค่าลดลงมาก โดยเฉพาะข้าว ที่การส่งออกเริ่มติดลบมากขึ้น สวนทางกับผลผลิตที่ออกมาในปริมาณมาก ทำให้ราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง ในขณะที่คู่แข่งเริ่มส่งอออกข้าวมาแข่งขันกับไทย ทำให้ประเมินว่าการส่งออกข้าวในปี 59 อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 9 ล้านตัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกข้าวไทยได้รับปัจจัยกดดันที่สำคัญ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างญี่ปุน สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวในรูปค่าเงินบาทของไทย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -7.5 -6.2 และ -64.2 ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้ง การแข่งขันทางการค้าที่อยู่ในระดับสูงของการส่งออกข้าว ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า การส่งออกข้าวของไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 26 ก.ค. 59 อยู่ที่ 5.5 ล้านตัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 12.1 ต่อปี โดยตลาดส่งออกข้าวสำคัญของไทย ได้แก่ เบนิน จีน ไอเวอรี่โคส และอินโดนีเซีย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีการส่งออกข้าวไทย ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากปริมาณผลผลิตในอินเดียและเวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จับตา: การส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือของปี 59
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นเดือน ก.ค.59 ขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ถึงแม้ว่าค่าจ้างมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในทิศทางที่ไม่แน่นอนก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของญี่ปุ่นชะลอตัวลง เนื่องจากค่าแรงมีการขยายตัวในอัตราที่ช้าลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า อุปสงค์ภายในประเทศของญี่ปุ่นในเดือน ก.ค.59 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น หลังจากยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 2 ของปี 59 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -1.5 ต่อปี แนวโน้มที่ดีขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ดำเนินมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้ง ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ เป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภาพรวมของญี่ปุ่นในเดือน ก.ค.59 ยังคงมีสัญญาณชะลอตัวตาม อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.59 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุดต่อเนื่อง สำหรับอุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค.59 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.6 จุด จากระดับ 42.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ถึงความกังวลของผู้บริโภคญี่ปุ่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 59 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.6 จับตา : ผลของนโยบายการเงินและการคลังต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงในครึ่งปีหลัง
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257