รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 6, 2016 11:13 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 กันยายน 2559

Summary:

1. พาณิชย์ แจงเงื่อนไข TOR ประมูลมันสำปะหลังในสต็อกกว่า 3.44 แสนตัน

2. กกร.มอง GDP ปีนี้ร้อยละ 3-3.5 ส่งออกร้อยละ -2 ถึง 0

3. ผู้นำภาคธุรกิจ-การเมืองหนุนกลุ่ม G20 ร่วมต่อต้านนโยบายกีดกันการค้า

1. พาณิชย์ แจงเงื่อนไข TOR ประมูลมันสำปะหลังในสต็อกกว่า 3.44 แสนตัน
  • นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์เห็นชอบให้ดำเนินการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังคงเหลือในสต็อกของรัฐบาลตามแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดให้มีการชี้แจงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดประมูลผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังดังกล่าวเป็นการทั่วไป จำนวน 117,809.100 ตัน และเข้าสู่อุตสาหกรรม ปริมาณ 226,745.344 ตัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ผลผลิตและราคามันสำปะหลังล่าสุดมีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน ทำให้ราคาหดตัวในระดับสูง โดยล่าสุดในเดือน ก.ค. 59 ดัชนีผลผลิตมันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 53.4 และดัชนีราคามันสำปะหลังหดตัวร้อยละ -35.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กอปรกับ การส่งออกมันสำปะหลังแปรรูปไปประเทศจีนในช่วงนี้ มีข้อจำกัดทางด้านข้อกำหนดทางด้านมาตรฐานและใบรับรองจากทางการจีน ทำให้เป็นอีกปัจจัยให้เกิดอุปทานส่วนเกินภายในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเดือน ก.ค. นี้มันสำปะหลังจะเริ่มเข้าสู่สิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ดังนั้นการดำเนินการระบายมันสำปะหลังในช่วงเดือน ก.ย. ถือว่าเป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงที่สิ้นสุดการเก็บเกี่ยวรอบก่อนหน้าไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง และยังไม่ถึงรอบเก็บเกี่ยวในระยะถัดไปทำให้ไม่ส่งผลกระทบกับสถานการณ์ทางด้านราคามันสำปะหลังที่ลดลงอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากการประมูลมันสำปะหลังนั้น จะต้องไม่นำไปใช้ในการแปรรูปเพื่อการส่งออก
2. กกร.มอง GDP ปีนี้ร้อยละ 3 - 3.5 ส่งออกร้อยละ -2 ถึง 0
  • นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3 - 3.5 เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด ส่งผลให้ทั้งปีมีความเป็นไปได้ที่ GDP อาจจะขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยหดตัวในเกือบทุกตลาด โดยคาดการณ์ว่าทั้งปี จะติดลบที่ร้อยละ 2 หรือขยายตัวร้อยละ 0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 59 จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ร้อยละ 3.3 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 59) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ผ่านโครงการที่สำคัญของรัฐ โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภค ได้แก่ โครงการบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งในระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 ที่มีความพร้อม ยังคงมีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเกิดจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่เติบโตดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ สศค.คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 59 จะหดตัวที่ร้อยละ -1.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.2 ถึง -1.6) โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว เป็นสำคัญ
3. ผู้นำภาคธุรกิจ-การเมืองหนุนกลุ่ม G20 ร่วมต่อต้านนโยบายกีดกันการค้า
  • บรรดาผู้นำทางการเมืองและภาคธุรกิจทั่วโลกใช้เวทีการประชุม G20 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน เพื่อประกาศการสนับสนุนการต่อต้านนโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเอง(protectionism) พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกประเทศเพิ่มความพยายามในการกระตุ้นการค้าทั่วโลกให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เวทีการประชุม G20 ที่เมืองหางโจวในครั้งนี้เป็นเวทีที่มีความแข็งแกร่ง ในการสร้างความร่วมมือกันทั่วโลก ซึ่งบรรดาผู้นำโลกจะให้ความสำคัญในเรื่องการหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซาอยู่ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งเป็นอันดับแรก พร้อมทั้งกอบกู้ความเชื่อมั่นและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในประเด็นด้านนโยบายกีดกันการค้านั้น ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ประเทศสมาชิก G20 ควรต่อต้านนโยบายสร้างกำแพงกีดกันต่อเพื่อนบ้าน และควรให้การส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจโลกที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศกำลังหันมาใช้นโยบายกีดกันการค้ากันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ การต่อต้านนโยบายกีดกันทางการค้าควรนำมาปฏิบัติเป็นรูปธรรม และประชาคมในภาคธุรกิจควรหันมาให้ความร่วมมือ เพราะการกีดกันทางการค้าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศ ประชาคมภาคธุรกิจควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น เนื่องจาก หากไม่มีการค้าระหว่างประเทศและไม่มีการลงทุนข้ามพรมแดน ก็จะทำให้ไม่มีการจ้างงานเกิดขึ้นเช่นกัน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ